ห่วงสารเคมีการเกษตรไหลลงแหล่งน้ำ เพิ่มยอดผู้ป่วยมะเร็ง

ที่มาและภาพประกอบ : เว็บไซต์สยามรัฐ


ห่วงสารเคมีการเกษตรไหลลงแหล่งน้ำ  เพิ่มยอดผู้ป่วยมะเร็ง thaihealth


มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ในหลายพื้นที่ในหลายโรงเรียนของอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่ง พชภ.ได้ดำเนินโครงการ “เด็กกายดี” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ ผู้จัดการโครงการเด็กกายดี กล่าวว่า ได้มีการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก ๆ ในพื้นที่ของโครงการพบว่า 48% นิยมกินขนมประเภทกุบกรอบและน้ำอัดก๊าซ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่น้อยลงเนื่องจากการเล่นเกมส์ทางโทรศัพท์ ดังนั้น จึงได้ชักชวนให้โรงเรียนต่าง ๆ บริโภคอาหารปลอดสารพิษและสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น การปั่นจักรยานไปโรงเรียน การปั่นจักรยานที่เชื่อมต่อกับสปริงเกอร์ในการรดน้ำแปลงเพาะปลูกการเกษตรที่เป็นอาหารกลางวัน การเล่นจักรยานล้อเดียว การออกกำลังกายหน้าเสาธง


“มีเด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในสภาวะเนือยนิ่ง เพราะมีเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ การเดินทางมาโรงเรียนก็มีผู้ปกครองคอยรับ-ส่งโดยใช้มอเตอร์ไซด์ แตกต่างจากสมัยก่อนที่เดินกันมา เราจึงมีโครงการสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหวทางร่างกายมากขึ้น แต่เป็นการกระทำที่ทวนกระแสความรู้สึก เพราะมนุษย์มักชอบอยู่นิ่งๆ มากกว่าการเคลื่อนไหว ดังนั้น จึงต้องหาแรงจูงใจให้เด็กๆเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” นางจุฑามาศ กล่าว


ห่วงสารเคมีการเกษตรไหลลงแหล่งน้ำ  เพิ่มยอดผู้ป่วยมะเร็ง thaihealth


นางจุฑามาศ กล่าวว่า หลังจากที่ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งหลายโรงเรียนได้ชักชวนเด็ก ๆ เข้าร่วมโครงการ ทำให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เช่น มีการออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งโครงการฯได้แต่งเพลงที่มีเนื้อหาทำให้เห็นคุณค่าของการกินอาหารปลอดสารพิษซึงมีจังหวะที่สนุกสนาน ทำให้เด็ก ๆ ชอบมากและนำไปเปิดประกอบท่าเต้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลชุมชนได้เข้าร่วมเพื่อการดำเนินการร่วมกับโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ในการเฝ้าระวังสุขภาพของเด็กในโรงเรียน เพื่อการดูแลให้น้ำหนักส่วนสูงเป็นไปตามเกณฑ์ของสาธารณสุข ซึ่งในปัจจุบันยังสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ แม้ว่าจะมีเด็กบางรายที่มีน้ำหนักเกินก็ได้ประสานงานกับผู้ปกครองและเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อการติดตามด้วย


นายเอกราช ลือชา ผู้อำนวยการโรงเรียนปอวิทยา และที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการตรวจสารพิษในร่างกายของเด็กในหลายโรงเรียนในอำเภอเวียงแก่นพบว่ามีระดับสารพิษเกินมาตรฐาน เนื่องจากการบริโภคผักตามตลาดซึ่งไม่ทราบที่มาที่ไป เช่น ผักกาดขาว คะน้า และในหลายโรงเรียนต้องใช้น้ำประปาภูเขาในการอุปโภค ซึ่งบางพื้นที่อาจมีสารเคมีจากการทำเกษตรกรรมเจือปน อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้เข้ามาช่วยแก้ไขแล้ว


นายเอกราช ปัญหาที่แก้ไม่จบคือวัตถุดิบในการป้อนทำอาหารในโรงเรียน เพราะหาที่ปลอดสารเคมีได้แค่บางส่วนและยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งพืชผักผลไม้ยังมีความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนอยู่ ที่ผ่านมามีการรวมกลุ่มครูอาหารกลางวันในเวียงแก่น และกลุ่มเกษตรกรปลอดภัย แต่กลุ่มเกษตรปลอดภัยยังมีสมาชิกอยู่ในวงจำกัดไม่พอป้อน 21 โรงเรียน ปริมาณที่ปลูกกินกันเองก็ไม่เพียงพอ  ดังนั้น โรงเรียนบางส่วนต้องซื้อตลาดทั่วไป ส่วนเรื่องน้ำสำหรับบริโภคนั้น บางโรงเรียนใช้วิธีซื้อน้ำ บางโรงเรียขุดบ่อบาดาลเอง บางโรงเรียนใช้ระบบกรอง แต่สำหรับน้ำอุปโภค เช่น ล้างมือ ส่วนใหญ่เป็นประปาภูเขาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ


“ในอำเภอเวียงแก่นมีแม่น้ำสายหลักเพียงสายเดียวคือแม่น้ำงาว สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ด้วยวิถีปลูกพืชที่ใช้สารเคมีเยอะมาก ทำให้สารเคมีบางส่วนไหลลงลำห้วยลำธารและไหลไปลงแม่น้ำงาว ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ดังนั้นชาวบ้านจึงเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับน้ำ” นายเอกราช กล่าว


ห่วงสารเคมีการเกษตรไหลลงแหล่งน้ำ  เพิ่มยอดผู้ป่วยมะเร็ง thaihealth


ผู้อำนวยการโรงเรียนปอวิทยา กล่าวว่า ปัญหาน้ำปนเปื้อนเป็นเรื่องใหญ่ที่หาทางแก้ไขยาก หากการใช้สารเคมียังเข้มข้น ดังนั้นหลายภาคส่วนต้องช่วยกัน ทั้งชาวบ้าน ราชการและองค์กรเอกชน ควรบูรณาการร่วมกัน เพราะคนได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวบ้าน เราต้องทำให้ชาวบ้านเห็นโทษพิษภัยของสารเคมีซึ่งตอนนี้เริ่มตระหนักกันมากขึ้น เพราะมีสถิติที่ชาวบ้านป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งพุ่งสูงมาก เช่นเดียวกับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตามโรงพยายบาลต่าง ๆ มีเพิ่มขึ้นมาก ทั้ข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสูงขึ้น โดยผักที่ใช้สารเคมีมาก ๆ ทั้งผักกาด ผักคะน้า กะหล่ำปลีแทบทุกชนิด


“เด็ก ๆ ที่ร่างกายได้รับสารเคมีเกินมาตรฐาน ตอนนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและรพ.สต.ได้ช่วยกันมาให้ความรู้ด้านสุขศึกษาและได้ประชุมผู้ปกครองให้รับรู้ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน เพราะเด็ก ๆ กินข้าวที่โรงเรียนเพียงมื้อเดียว แต่ที่เหลือกินข้าวบ้าน พวกเขาจะปลอดภัยหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่บ้านเป็นสำคัญ”นายเอกราช กล่าว และว่าส่วนในเรื่องของน้ำอุปโภคที่ใช้ประปาภูเขาซึ่งมาจากธรรมชาติต่อจากลำธารลำห้วยโดยตรงแก้ไขยาก มีทางเดียว คือ ลดการใช้สารเคมีและป้องกันไม่ให้ไหลลงลำห้วย


นายเอกราช กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ พชภ.ที่เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กๆได้มีทางเลือกในการปลูกพืชปลอดสารเคมี ซึ่งโรงเรียนปอวิทยาได้รับการสนับสนุนจักรยานรดน้ำแปลงผักปลอดสารเคมี ซึ่งได้รับความนิยมจากเด็กนักเรียนมากเพราะนอกจากได้ออกกำลังกายแล้ว ยังได้รดน้ำแปลงผักด้วย


นายวัชระ แซ่ว้า นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนปอวิทยา กล่าวว่า นักเรียนที่อยู่หอพักได้ช่วยกันทำแปลงผักเพื่อปลูกพืชไว้กินเอง โดยตอนแรกใช้วิธีรดน้ำด้วยบัวรดน้ำหรือสายยาง ต่อมาทาง พชภ.ได้มาติดตั้งจักรยานรดน้ำให้ จึงสะดวกมากขึ้น ที่สำคัญคือได้ออกกำลังกาย ขณะนี้มีอยู่แค่ 2 คัน ถ้าเป็นไปได้อยากขอเพิ่มขึ้น เพราะอยากขยายการปลูกผักให้มากขึ้นเพื่อให้พอเพียงกับการนำมาทำอาหาร


“ตอนเช้า ๆ หรือตอนเย็น ๆ ผมและเพื่อน ๆ มักมาปั่นจักรยานเพื่อรดน้ำแปลกผัก เราปลูกคะน้า กวางตุ้ง มะเขือยาวเอาไว้หลายแปลง หากมีศัตรูพืช เช่น แมลง ถ้าเป็นตัวใหญ่ก็จับออก ถ้าเป็นตัวเล็ก ๆ ก็มีน้ำสกัดจากธรรมชาติมาฉีดไล่” นายวัชระ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code