ห่วงยาปฏิชีวนะทำ “เชื้อดื้อยา”

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ห่วงยาปฏิชีวนะทำ “เชื้อดื้อยา” thaihealth


แฟ้มภาพ


กพย. ห่วง รพ.เอกชน จ่ายยาปฏิชีวนะมาก เพิ่มความเสี่ยง “เชื้อดื้อยา” จี้เข้มงวดใช้ยาปฏิชีวนะภาคการเกษตร – เลี้ยงสัตว์ หวั่นตกค้างในอาหารมาสู่คน ผอ.สถาบันบำราศฯ เตือนอย่าซื้อยากินเอง


ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องการใช้ยาสมเหตุผลมานาน โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ซึ่งหากใช้ไม่สมเหตุผล ใช้มากเกินไป หรือใช้ไม่ตรงกับโรค จะก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น ผู้ปฏิบัติงานมีความตื่นตัวมากขึ้น แต่สถานการณ์เชื้อดื้อยาก็ยังน่าเป็นห่วง จึงอยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทั้ง รพ.เอกชน ประชาชน และร้านขายยา โดยเฉพาะร้านขายของชำ ซึ่งพบว่ายังมีการขายยาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะอยู่ ทั้งที่ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ต้องมีความเข้มงวดในการใช้ยาปฏิชีวนะภาคเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ด้วย เพราะมีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่า ยาปฏิชีวนะมีการตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม และมีความเชื่อมโยงว่าอาจจะปนเปื้อนมากับอาหารด้วย แต่ยังบอกไม่ได้ว่ามากน้อยแค่ไหน


 “เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลรัฐขณะนี้ มีความตื่นตัวกันมาก ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีการตั้งเป้าว่า หากโรงพยาบาลใดสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้ตามเป้าหมาย จะมีเพิ่มเงินท็อปอัปให้ แต่ตอนนี้เราสนใจที่ รพ.เอกชน เพราะเป้าของเขาคือผู้ที่เข้ามารักษาต้องหาย ดังนั้น จึงพบการจ่ายยาปฏิชีวนะเยอะอยู่ เป็นช่องว่างของการควบคุม แต่ก็เห็นว่า รพ.เอกชนหลายๆ แห่ง มีความพยายามปรับปรุงเรื่องนี้” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวและว่า เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้มีการแก้ไขเรื่องยาปฏิชีวนะสูตรไม่เหมาะสมต่างๆ รวมถึงยาอมแก้ไอ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า


ด้าน พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีการดำเนินการควบคุมการใช้ยาทั้งในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ทั้งนี้ มีการโยงไปถึงการใช้ยาในสัตว์ด้วย เนื่องจากการใช้ยาอาจทำให้ตัวยาหลงเหลือในเนื้อสัตว์ นำไปสู่การปนเปื้อนและอันตรายต่อคนในการซื้อมารับประทาน อย่างไรก็ตาม ในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนหากพูดเรื่องสถิติว่าใครใช้มากกว่ากัน เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลและพื้นที่


พญ.จริยา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศ มาจาก 2 สาเหตุ คือ 1. ใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล โดยเฉพาะในต่างจังหวัดตามร้านขายของชำ ยังมีการขายยาปฏิชีวนะอยู่มาก ทำให้ซื้อหาได้ง่าย และซื้อยาไม่ถูกต้องตามอาการ และ 2. การรับประทานยาไม่ตรงตามเวลา ซึ่งจะมีทั้งประเภทกินก่อนอาหารและหลังอาหาร ทำให้การร่างกายดูดซึมยาได้ไม่เต็มที่และตัวยาก็ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ทำให้ตัวยายังค้างในร่างกาย ส่งผลให้เป็นเชื้อดื้อยาได้ สำหรับคนที่ซื้อยามารับประทานเองต้องระมัดระวัง เพราะหากป่วยเป็นหวัดเพียงเล็กน้อย ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส สามารถหาซื้อยาสามัญ เช่น ยาลดไข้ ลดน้ำมูก มาใช้ได้ แต่อย่าซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง เพราะขนาดแพทย์สั่งยังต้องระมัดระวัง เพราะอาจเกิดความผิดพลาดในการสั่งยาได้

Shares:
QR Code :
QR Code