ห่วงผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะซึมเศร้า

/data/content/26480/cms/e_bcdelmnpw379.jpg


          ‘แพทย์ห่วงผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีภาวะซึมเศร้าหลังทราบผลตรวจ เหตุวิตกกังวลไม่อยากเป็นภาระครอบครัว แนะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน และทำจิตใจให้เป็นปกติ ชี้ช่วยทำให้การรักษาง่ายขึ้น


          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ(International Diabetes Federation : IDF ) ได้กำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบบ่อย อย่างไรก็ตามนอกจากผู้ป่วยเบาหวานจะต้องดูแลสุขภาพทางกายแล้ว ยังต้องดูแลสุขภาพทางใจด้วย ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานอาจแสดงปฏิกิริยาทางใจออกได้ในหลายลักษณะ บางคนอาจเกิดการต่อต้าน ไม่ยอมรับ รู้สึกโกรธ ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย นอกจากนี้ยังต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คุ้นเคย โดยบางคนอาจคิดว่าไม่เป็นไร ส่งผลให้ละเลยไม่เห็นความสำคัญของการรักษาและการปฏิบัติตัว ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการเบาหวานได้


          นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า  เมื่อมีการยืนยันผลเลือดเป็นที่แน่ชัดว่า เป็นการตรวจที่ถูกต้องและผลการตรวจเป็นที่เชื่อถือได้ อาจทุเลาอาการโกรธลง แต่เปลี่ยนเป็นซึมเศร้าแทน เนื่องจากความวิตกกังวล และความกลัวเกี่ยวกับโรคที่เป็น คิดว่าตนเองเป็นภาระต่อครอบครัว กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย กลัวควบคุมอาการเบาหวานไม่ได้ ทำให้เกิดอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้กับโรค กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่ยอมกินยา เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา มากกว่าผู้ป่วยที่มีสภาพจิตใจเป็นปกติ ซึ่งพบว่าผู้ที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นเบาหวาน มีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากถึงร้อยละ 30 การคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวานจึงมีความจำเป็น ซึ่งในโรงพยาบาลชุมชน ได้จัดให้มีบริการคัดกรองโรคซึมเศร้าเช่นกัน


          “การป้องกันโรคเบาหวานจึงเท่ากับป้องกันภาวะซึมเศร้า  ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยเริ่มต้นที่ใจ เพราะหากท้อแท้ไม่ยอมช่วยเหลือตนเองหรือไม่ให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา ก็ยากที่จะอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุข เทคนิคง่ายๆคือ ลดพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดีและเพิ่มพฤติกรรมที่ดี เช่น ตั้งเป้าหมายที่จะออกกำลังกายวันละครึ่งชั่วโมง 3 วัน/สัปดาห์ เพื่อลดน้ำหนักให้ได้ เชื่อมั่นในตนเองพยายามทำจนกลายเป็นนิสัย ใส่ใจเรื่องอารมณ์ คลายเครียดอย่างเหมาะสม  ผ่อนคลายความกลัวและความวิตกกังวลลงให้ได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว


 


          ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code