หุ่นเงาลูกขุนน้ำ เด็กมีของดีมาอวด

          “หุ่นเงาทำให้เด็กมีเวทีแสดงออก  การได้ออกแสดงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กมีของดีต้องได้อวด(ดี)  ในเวลาที่แสดงแล้วเด็กจะรู้ว่าเมื่อถูกชมแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร หรือเมื่อผิดพลาดแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร เรียนรู้ที่เจ็บ และเรียนรู้ที่ยิ้ม จึงจะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้เร็ว”  


/data/content/24171/cms/e_abefgmvx2367.jpg


         สุภิญญา  บุญเฉลย  ผู้ประสานงาน กลุ่มลูกขุนน้ำ แห่งหมู่บ้านคีรีวง  จ.นครศรีธรรมราช  เอ่ยคำนี้ด้วยรอยยิ้มขณะเล่าเรื่องราวของเด็กๆ ในกลุ่มลูกขุนน้ำ  เธอเรียกแทนตัวเองว่ามาอู


         กลุ่มลูกขุนน้ำเข้าร่วมพื้นที่นี้…ดีจัง เป็นปีที่ 3 เธอเล่าว่าปีแรกเป็นแขกรับเชิญและเข้าร่วมเต็มตัวใน 3 ปี หลังเธอและเด็กๆ พบความสำเร็จจากการเลือกสื่อที่ดีนั่นก็คือ “หุ่นเงา”


         “หุ่นเงาสามารถประสานได้ทุกฝ่าย ทำให้เด็กได้สืบค้นเรื่องราวในชุมชน ผู้ใหญ่ได้ถ่ายทอด เช็คเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายได้ ซึ่งต่างจากการทำเอกสารประเภทงานวิจัย เพราะสื่อหุ่นเงาเวลาเล่นจะมีเสียงตอบรับจากผู้ชมได้ในทันทีขณะเล่น ซึ่งเด็กรู้สึกและรับรู้ได้เช่นกัน ผู้ชมก็เข้าใจสิ่งที่เด็กสื่อได้บางครั้งอาจจะไม่เข้าใจแต่ก็รู้ว่าเด็กตั้งใจจะทำอะไร จากการทำโครงการที่ผ่านมาเห็นพัฒนาการของเด็ก เช่น มีระเบียบวินัย มีการฝึกซ้อม รู้เรื่องราวของชุมชน ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนตนเอง”


/data/content/24171/cms/e_cginrtuxy378.jpg


         เรียนรู้ต่อเติม


        ด้วยความพยายามที่จะหาของดีในชุมชนแรกๆ เธอจึงชวนเด็กๆ ไปใช้ธนูคันกระสุน เป็นธนูแบบดั้งเดิมที่มีก้อนหินเป็นกระสุน ซึ่งมีอยู่เฉพาะในชุมชนนี้ และมีปราชญ์ชาวบ้านรู้เรื่องนี้ที่นี่


“มาอูรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวกลาง(ตัวเชื่อมระหว่างยุค โดยธรรมชาติของชุมชนคีรีวงการถ่ายทอดในทุกๆเรื่องจะส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น)ได้จึงคิดจะให้ผู้ใหญ่สอนเด็กๆในหมู่บ้านโดยตรง แต่เนื่องจากธนูคันกระสุนเป็นเครื่องมือที่ยากเกินไปเพราะต้องฝึกฝนและต้องใช้ความชำนาญ  บางคนหัดยิงพลาดไปโดนนิ้วตัวเองเกิดอันตรายกับเด็กๆ ถึงแม้จะเสียดายเพราะธนูคันกระสุนเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนก็ตามแต่ความปลอดภัยของเด็กก็ต้องมาก่อนสิ่งใด”


         ปีที่สองเธอจึงทำซุ้มกิจกรรมและซุ้มศิลปะในโรงเรียนแต่ละแห่งในตำบล รอบๆ หมู่บ้าน  แต่ปัญหามีมาทดสอบคนตั้งใจเสมอ  พอเข้าไปทำกิจกรรมกับโรงเรียนทำให้เธอรู้ว่าโรงเรียนเองก็มีภาระมาก อีกทั้งกลุ่มลูกขุนน้ำเองก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะสั่งการโรงเรียนได้ ทางโรงเรียนจึงจัดสรรค์เวลาให้ตามสมควร  อีกทั้งวันที่จะทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียนได้ก็ต้องเป็นวันธรรมดา  ซึ่งทำอะไรไม่ได้มากนัก   ที่สำคัญก็คือ การขับเคลื่อนกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์กับทางโรงเรียนขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงเรียนว่าส่งเสริมกิจกรรมเด็กมากน้อยแค่ไหน


        หลังความพยายามเรามักพบความสำเร็จ ปีที่สามนี่เอง เธอได้ใช้หุ่นเงา  เป็นสื่อกลางที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของ ทุกคนในชุมชนได้ เด็กกับพี่เลี้ยงก็ไม่ลำบากที่จะพบและเรียนรู้ไปด้วยกัน  เพราะสามารถใช้วันหยุดไปสืบค้นข้อมูลในชุมชนได้ และได้รับการยอมรับจากชุมชน  จึงค่อยๆ จัดอบรม  จัดแสดงไปทีละหมู่บ้าน


       “เรานำหุ่นเงา จากทุกพื้นที่มาจัดมหกรรมปลายปี รวมหุ่นเงาจากทุกพื้นที่โดยพื้นที่ทำงาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงออกทะเล การจัดงานครั้งนั้นทำให้เราเห็นความหลากหลายของพื้น  และหุ่นเงาแต่ละพื้นที่ก็อธิบายความเป็นชุมชนและพื้นที่ได้ด้วยตัวหุ่นและเรื่องราว  ผ่านเป็นเรื่องเล่าสู่คนชมได้อย่างเข้าใจง่าย


       หลังจากครั้งนั้นหุ่นเงาของพวกเราก็เริ่มออกนอกพื้นที่  ได้ไปขอความร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้ จ.นครศรีธรรมราช ขอพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่แสดงหุ่นเงา  ซึ่งทางอุทยานฯ มีพื้นที่ว่างอยู่ สำหรับจัดการแสดงอยู่แล้ว จึงตอบโจทย์กันและกันได้ หุ่นเงาจึงทำให้เด็กๆมีพื้นที่


/data/content/24171/cms/e_cgpqsu135789.jpg


        สื่อดีไม่ได้มีแค่เอกสาร


        เดิมทีนั้นมาอูบอกว่า เธอไม่คิดว่าสื่อหุ่นเงานี้จะใช่คำตอบ   แต่เกิดจากประสบการณ์ที่เคยผิดพลาดมามาก  ทั้งจากงานอื่นๆ  ไม่ใช่แค่พื้นที่นี้ดีจัง ทำให้พอนึกออกว่าสื่อแบบไหนที่จะเข้าถึงคนได้ ซึ่งแน่ใจว่าไม่ใช่เอกสารแน่ๆ  


        “จากที่เคยทำงานวิจัยและเคยผลิตสื่อประเภทการ์ตูนมาก่อน  ถึงแม้สื่อที่เราทำออกมันดีแต่ไม่มีคนอ่าน  เราก็พยายามหาสื่ออื่นๆ เพื่อจะเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วม  เคยปรึกษากับกลุ่มมานีมานะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำละครอยู่ที่หาดใหญ่ เลยลองมาให้หุ่นเงาดู  ไม่คิดว่าละครที่ใช้หุ่นเงาเป็นสื่อจะมีข้อดีอย่างไม่น่าเชื่อ   คือคนเชิดอยู่หลังฉาก เด็กไม่ต้องอายเพราะไม่มีใครมองเห็น ทำให้แก้ปัญหาเรื่องการไม่กล้าแสดงออกของเด็กได้  ต่างจากการแสดงละครเวทีที่ต้องเอาตัวมาเล่นหน้าฉากซะเองซึ่งต้องเผชิญหน้ากับผู้ชมโดยตรง   แต่การอยู่หลังฉากก็สร้างความมั่นใจให้เด็กด้วยเช่นกัน หลังจากทำหุ่นเงาไปสักพัก เด็กๆ มีความมั่นใจและเริ่มเรียกร้องที่จะแสดงละครด้วยตัวเองหน้าฉาก ผู้ปกครองก็ให้การสนับสนุน”


        หุ่นเงารวมเพื่อนและสร้างทักษะ


        มาอูบอกว่าหุ่นเงานั้นทำให้เด็กๆ มีทักษะการทำงานงานฝีมือ นั่นก็คือการตัดตัวหุ่น ซึ่งวิธีการทำหุ่นเงาของกลุ่มลูกขุนน้ำจะทำด้วยวัสดุง่ายๆ  วาดโครงร่างหุ่นบนกระดาษแข็ง  ตัดกระดาษ  ตัดพลาสติก ทำอย่างไรก็ได้ที่ฉายไฟใส่แล้วเกิดเงาได้ จะฉลุปราณีตเหมือนหนังตะลุงก็ได้ หรือจะทำอย่างอื่นๆ ก็ได้  ส่วนเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องราวหรือตำนานของชุมชนที่มีอยู่จริง หลังจากเด็กได้เรียนรู้มาเขาจะคิดบทขึ้นมาเองโดยผ่านการเรียบเรียงให้น่าสนใจโดยใช้ทักษะที่ได้รับจากการworkshopหุ่นเงาในช่วงต้นโครงการฯ  กระบวนการผลิตหุ่นเงาหนึ่งเรื่องเด็กๆ ได้เรียนรู้การเขียนบท ทำสตอรีบอร์ด วาดหุ่น ตัดหุ่น ทำฉาก การพากย์เสียง การเชิดหุ่น การใช้แสง และอื่นๆ ที่หลากหลายตามแต่ศักยภาพของตนเองด้วยเช่นกัน


       “ตัวหุ่นใช้กระดาษเพราะเป็นวัสดุที่หาง่าย เด็กจะออกแบบตัวหุ่นตามบุคลิกในเรื่องราวที่เด็กคิดได้ เคล็ดลับที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้สื่อหุ่นเงาก็คือ เด็กต้องมีเวทีแสดงออก และซ้อมบ่อยๆ  การแสดงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กมีของดีต้องได้อวด(ดี) เพราะในเวลาที่แสดงแล้วเด็กจะรู้ว่าเมื่อถูกชมแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร หรือเมื่อผิดพลาดแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้ เรียนรู้ที่เจ็บ และเรียนรู้ที่ยิ้มด้วยตัวเขาเอง” มาอูจบประโยคพร้อมกับรอยยิ้มผุดพรายเต็มดวงหน้า


/data/content/24171/cms/e_adjmoqtyz124.jpg


        หมายเหตุ พื้นที่นี้…ดีจัง เป็นแผนรณรงค์  “พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน” ของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักในปัญหา ช่วยขจัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษต่อเด็ก ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดพื้นที่ดีและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน อย่างจริงจัง กว้างขวาง เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ สร้างโอกาสให้เด็กได้เติบโตพัฒนาตามวัย มุ่งตอบสนองความต้องการของเด็ก ครอบครัว ชุมชน


 


 


      ที่มา:  สุมาลี  พะสิม สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน

 

Shares:
QR Code :
QR Code