หลีกเลี่ยง อย่าละเลย `พิษทางอากาศ`

/data/content/23727/cms/cefnrtyz3678.jpg

          เรื่องของ ‘มลพิษทางอากาศ” ในประเทศไทย นับวันก็จะยิ่งน่าเป็นห่วง และจำเป็นต้องกลัว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของกลิ่น ควัน แก๊สพิษ ซึ่งสามารถก่ออันตรายแก่ร่างกายมนุษย์ได้ ทั้งแบบที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว หรือรู้อีกทีก็สายเกินแก้ สามารถจะทำให้เจ็บป่วย หรือถึงขั้นเสียชีวิต โดยระยะหลัง ๆ มานี้ก็เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

          อย่างเช่นกรณี “ไฟไหม้บ่อขยะ” หรือกรณี “แก๊สพิษในบ่อพักน้ำเสีย”

          ทั้งนี้ กับกรณี “ไฟไหม้บ่อขยะ” ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้เกิดเหตุใหญ่ขึ้นที่ จ.สมุทรปราการ ทางกระทรวงสาธารณสุขระบุถึงอันตรายที่อาจจะตามมาเอาไว้ อาทิ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ไล่ตั้งแต่แค่ทำให้มีอาการแสบจมูก แสบตา คอแห้ง ระคายเคืองผิวหนัง ทำลายเนื้อเยื่อปอด และในระยะยาวอาจจะเป็น มะเร็งปอด ได้, คาร์บอนไดออกไซด์ นี่ก็อย่าคิดว่าไม่ร้าย หากร่างกายได้รับเป็นเวลานาน จะมีผลทำให้สมองขาดออกซิเจน ทำให้ง่วงซึม ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หมดสติ และอาจถึงขั้น เสียชีวิต ได้กับกรณี “แก๊สพิษในบ่อพักน้ำเสีย” เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดเหตุใหญ่ขึ้นที่ จ.ภูเก็ต มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย โดยสาเหตุนั้นก็มีการระบุถึง ไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ แก๊สไข่เน่า

          ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า อันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศเกิดเป็นระยะ และมักมีการเสียชีวิตหมู่ ซึ่งในช่วงปี 2546-2556 เกิดเหตุการณ์ 9 ครั้ง มีผู้ประสบเหตุ 32 ราย เสียชีวิตถึง 28 ราย หรือร้อยละ 88 และผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้ที่ลงไปช่วยเหลือผู้ที่หมดสติโดยขาดอุปกรณ์ป้องกันแก๊สพิษ เช่น แก๊สไข่เน่า, แก๊สมีเทน, คาร์บอนมอนอกไซด์

/data/content/23727/cms/ceghjotvwx58.jpg

          นี่เป็นตัวอย่าง ‘อันตราย” ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น มีทั้งแบบที่รู้เลย และที่ยังต้องติดตามดู??

          อย่างไรก็ตาม ว่ากันถึงเรื่องอันตรายจากมลพิษทางอากาศ กลิ่น ควัน แก๊สพิษ ยังมีอีกหลายกรณี ซึ่งทางนักวิชาการผู้สันทัดกรณี ดร. ทรรศนีย์ พฤกษาสิทธิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ความเข้าใจผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” มาว่า มลพิษทางอากาศมีหลายชนิด ได้แก่ ฝุ่นละออง สารอินทรีย์ระเหย โลหะหนัก และแก๊สต่าง ๆ โดยแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม, การจราจร, การก่อสร้าง, กิจกรรมในครัวเรือน, การเกิด ไฟป่า, การย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลชีพ หากพิจารณาถึงโอกาสการรับสัมผัสสารพิษทางอากาศของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในเขตเมือง    

          ดร.ทรรศนีย์ ระบุว่า การจราจร การเผาไหม้เชื้อเพลิงยานพาหนะ ก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 และ 10 ไมโครเมตร, สารอินทรีย์ระเหยง่าย (สารเบนซิน โทลูอีน เอทิลเบนซิน ไซลีน ฟอร์มัลดีไฮด์ สารกลุ่มอัลดีไฮด์), สารอินทรีย์กึ่งระเหย (สารพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน) เป็นต้น

          นอกจากนี้ กิจกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างก็อาจก่อให้เกิดมลพิษใกล้ตัวได้ เช่น จุดธูป จุดกำยาน ซึ่งมีการตรวจพบสารพิษอันตรายบางชนิดในควันธูป ได้แก่ โลหะหนักทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เหล็ก ที่เป็นองค์ประกอบที่พบในฝุ่นขนาดเล็ก สารเบนซีน โทลูอีน เอทิลเบนซีน ไซลีน พอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน

/data/content/23727/cms/dehjmoqsw467.jpg

          ‘จากตัวอย่างกิจกรรมดังกล่าว สารพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นโดยส่วนมากมาจากกระบวนการเผาไหม้สารอินทรีย์แบบไม่สมบูรณ์”

ดร.ทรรศนีย์ ระบุ พร้อมทั้งบอกต่อไปว่า กรณีที่ในบางพื้นที่มีการเผาขยะในที่โล่งเป็นประจำ ก็ถือเป็นเส้นทางการสัมผัสสารพิษทางอากาศในกลุ่มที่คล้ายการเผาไหม้สารอินทรีย์จากแหล่งอื่นๆ เช่นกัน และยังอาจจะมีกลุ่มสารไดออกซินเกิดขึ้นด้วยหากมีการเผาไหม้ขยะพลาสติกร่วมด้วย

          ทั้งนี้ นักวิชาการภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ยังระบุด้วยว่า อันตรายของสารพิษทางอากาศที่มีต่อสุขภาพมนุษย์มีหลายระดับ บางชนิดก่อให้เกิดผลกระทบระยะสั้น มีอาการที่สังเกตได้ชัดเจน และฟื้นฟูสภาพร่างกายให้เป็นปกติได้ บางชนิดก่อผลกระทบในลักษณะเฉียบพลัน และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต บางชนิดก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาว และเรื้อรังจนก่อเกิดมะเร็งในระบบทางเดินหายใจและอวัยวะบางแห่ง

          ในกลุ่มหลัง ร่างกายจะไม่แสดงอาการใดให้เห็นชัดเจนจนกว่าจะถึงขั้นของการเกิดเซลล์มะเร็ง โดยสารพิษทางอากาศที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ สารเบนซีน (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) สารเอทิลเบนซีน (มะเร็งในท่อไต) สารฟอร์มัลดีไฮด์และสารพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนบางชนิด (มะเร็งปอดและระบบทางเดินหายใจ)

          “จากหลักฐานการตรวจพบสารมลพิษต่าง ๆ ในอากาศ สะท้อนให้เห็นว่าอันตรายจากการรับสัมผัสอากาศที่เป็นพิษเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และเป็นเรื่องใกล้ตัวโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ การหลีกเลี่ยงการรับสัมผัสสารต่าง ๆ เป็นแนวทางที่ทำให้ลดผล กระทบที่อาจเกิดต่อสุขภาพได้” ดร.ทรรศนีย์ ทิ้งท้าย

 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code