“หยุด” อาละวาด ด้วยมาตรการ 11 วิธี
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
เมื่อเด็กผิดหวังหรือโกรธ เด็กอาจจะอาละวาดได้แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เช่น ร้องไห้ได้แต่ห้ามทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น และไม่ทำลายข้าวของพ่อแม่ควรเข้าใจว่า เด็กทุกคนย่อมพบเจอความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งสำคัญคือ การสอนให้เด็กรู้จักและควบคุมอารมณ์ของตัวเอง
มาตรการ 11 วิธี เพื่อ “หยุด” อาละวาด
1. หาสาเหตุและป้องกัน สาเหตุที่พบบ่อยคือ เด็กถูกขัดใจ ถ้าเด็กอาละวาดเพราะถูกน้องหรือพี่รังแก พ่อแม่ควรจัดบริเวณให้เด็กอยู่คนละมุม ถ้าเด็กอาละวาดเพราะอยากได้ของเล่นที่ห้างสรรพสินค้า ควรหลีกเลี่ยงการไปห้างสรรพสินค้าหรือเลี่ยงมุมของเล่น เป็นต้น
2. เบี่ยงเบนความสนใจ พยายามหันเหความสนใจของเด็กจากเรื่องที่ขัดใจไปสู่เรื่องอื่น เช่น ชักชวนเด็กไปทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือชวนดูสิ่งน่าสนใจที่หน้าต่าง เป็นต้น
3. เพิกเฉย เมื่อการเบี่ยงเบนความสนใจไม่ได้ผล ไม่ให้ความสนใจต่อการอาละวาดของเด็ก ควรรอให้เด็กสงบอารมณ์ก่อน เด็กจะเรียนรู้ว่าการอาละวาดไม่มีประโยชน์ พ่อแม่ไม่สนใจพฤติกรรมเช่นนี้
4. แยกเด็กออกจากสถานการณ์นั้นๆ ควรแยกเด็กให้ไปอยู่ลำพัง ในมุมที่สงบ ไม่มีสิ่งเร้าหรือรบกวน เช่น อยู่ในห้องของเด็ก นั่งเก้าอี้มุมห้อง
5. เมื่อเด็กสงบหรืออารมณ์ดี พ่อแม่จึงอบรมสั่งสอน ควรอธิบายด้วยคำง่ายๆ จุดอ่อนที่พบบ่อยคือ พ่อแม่รอจนเด็กสงบไม่ได้ เมื่อพ่อแม่สั่งสอนหรือตักเตือนขณะที่เด็กกำลังโกรธ เด็กไม่สามารถรับรู้เรื่องใดๆ เพราะยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ และอาจเป็นการกระตุ้นให้เด็กโกรธมากขึ้น
6. ปฏิบัติกับเด็กในแนวทางเดียวกัน ลดพฤติกรรมของผู้ใหญ่และสื่อต่างๆ ที่เป็นแบบอย่าง พ่อแม่ต้องไม่ตามใจหรือให้ในสิ่งที่เด็กต้องการ หลังจากเด็กอาละวาด เพราะจะทำให้เด็กเรียนรู้ว่า เมื่ออาละวาดแล้วจะได้สิ่งที่ต้องการ
7. ลดการยั่วยุ หรือแย่ให้เด็กโกรธ
8. ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูเด็ก ลดการตามใจและฝึกการยับยั้งชั่งใจ ฝึกหัดให้รอคอยทีละน้อย ให้กำลังใจและแสดงความชื่นชมเมื่อเด็กทำได้
9. ฝึกฝนทักษะการพูด ความสามารถในการเล่น และการช่วยเหลือตนเอง
10. เอาใจใส่และให้ความสำคัญกับเด็ก เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ดี ควรแสดงเพื่อให้เด็กรู้ว่า พฤติกรรมนั้นเป็นสิ่งที่พ่อแม่ยอมรับ
11. ฝึกสอนการรู้จักอารมณ์ตนเอง ฝึกหัดควบคุมอารมณ์ และรู้จักวิธีระบายอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น การพูดคุยเรื่องความรู้สึกตอนโกรธ การทำสิ่งทดแทน เช่น เตะฟุตบอลหรือล้างหน้าเมื่อรู้สึกโกรธ
ถ้าเด็กแสดงความโกรธโดยการอาละวาด และพ่อแม่ยินยอมให้เด็กได้รับในสิ่งที่เด็กต้องการ เด็กจะเรียนรู้ว่า เมื่อทำพฤติกรรมเช่นนี้แล้วเด็กจะได้ในสิ่งที่ต้องการ ในที่สุดเด็กจะทำซ้ำอีก