หยุด! การสูญเสีย รณรงค์ลดอุบัติเหตุทางข้ามรถไฟ
ผู้ขับขี่ยวดยานบางคนต่างทะนงตัวว่าตัวเองรอดเพราะดวงหรือเพราะเครื่องลางของขลังที่ติดกับตัว และบางรายกลับต้องได้รับความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน ตัวรถยนต์ ตัวรถไฟ หรือแม้แต่การเสียเวลาในการเดินทาง แต่ที่สำคัญและมีค่าที่สุดคือชีวิต ซึ่ง ในแต่ละปีมีผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการ ข้ามทางรถไฟ จำนวนไม่น้อยกว่า 200ราย และบาดเจ็บมากกว่า 400คน แน่นอนว่า ทรัพย์สินได้รับความ เสียหายจำนวนมากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แบกรับไว้แต่เพียงผู้เดียว จึงปิ๊งไอเดียขึ้นมา และศึกษาจนเกิดเป็นโครงการสำคัญ
ล่าสุด การรถไฟฯ ได้จัดให้มี “โครงการเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณทางเดินรถที่มีทางรถไฟผ่าน” ขึ้น เพื่อหวังรณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณทางข้ามที่มีรถไฟผ่าน “ประเสริฐ อัตตะนันทน์” รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย บอกว่า การรถไฟฯ เป็นอีกหนึ่งองค์กรรัฐวิสาหกิจของ กระทรวงคมนาคมที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน โดยรับผิดชอบในด้านการให้บริการขนส่งแก่ผู้โดยสาร อีกทั้งยังให้บริการขนส่งสินค้าไปทั่วภูมิภาคของประเทศไทย
และจากตัวเลขสถิติการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดผ่านระหว่างทางรถไฟ กับถนนรถยนต์ ในแต่ละเดือนนับมีเพิ่มสูง ขึ้น ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้นมีความหลากหลาย อาทิ จำนวนยวดยานมีเพิ่มมากขึ้น ความถี่ในการพบกันระหว่าง ขบวนรถไฟกับรถยนต์มีสูงขึ้น จำนวนผู้ขับขี่ทั้งมือเก่าและมือใหม่มีความประมาท และคึกคะนองมากขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพ ในการได้ยินหรือการมองเห็นผ่านฟิล์มกรองแสงลดลง ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด ความสูญเสียต่างๆ ตามมา
อย่างไรก็ดี การรถไฟฯ ได้ตระหนักถึงความปลอดภัย ด้วยหวังว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางผ่านรถไฟเสมอ ระดับรถยนต์ทางตัดผ่านทางลัดผ่าน (จุดตัดข้ามทางรถไฟที่สร้างขึ้นเองโดยชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณทางรถไฟ ซึ่งไม่มีเครื่อง กั้น ไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เตือน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย) มาโดยตลอด จึงเป็นที่มาของ “โครงการรณรงค์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณทางเดินรถที่มีทางรถไฟผ่าน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้พักอาศัยอยู่ใกล้ทางรถไฟ และกลุ่มผู้ที่สัญจรผ่านทางรถไฟ เพื่อให้เข้าใจถึง “พระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2522” อย่างถูกต้องและไปในทางเดียวกัน
ส่วนแผนงานของโครงการฯ การรถไฟฯ จะสร้างความเข้าใจกับกลุ่มองค์การ บริหารส่วนตำบล, นายกบริหารองค์การส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้ผู้นำชุมชนหรือท้องถิ่นแต่ละจังหวัดที่มีความใกล้ชิดชาวบ้านนำข้อมูลที่ได้ไปบอกต่อ และสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น ด้วยภาษาที่เรียบง่าย กระชับ เข้าใจง่าย จัดทำแผ่นพับ จัดทำสปอตโทรทัศน์ สปอตวิทยุ รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ตามสถานที่ ต่างๆ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดโครงการฯ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น และยังมี “สารวัตรบำรุงทางรถไฟ” ทำหน้าที่ตรวจสอบรางรถไฟทั้งหมด ทั้งในด้านความแข็งแรงของราง เครื่องหมายให้สัญญาณต่างๆ หากพบปัญหาใดๆ เช่น มีรางชำรุด ก็จะทำการซ่อมบำรุงทันที
สำหรับมาตรการป้องกันเหตุอันตราย ทางผ่านทางรถไฟ ประกอบด้วย
1.รณรงค์ จัดทำป้ายประกาศให้ประชาชนมีจิตสำนึก ถึงความปลอดภัยขณะจะข้ามทางรถไฟ โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อบต., เทศบาล, จังหวัด จัดโครงการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน งบประมาณการรถไฟฯจัดกิจกรรมวาดภาพประกวดไปติดไว้บริเวณจุดจัดชุมชนต่างๆ
2.ประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทราบด้านความปลอดภัยทั่วไป โดยประชาสัมพันธ์การรถไฟฯ เป็นผู้ดำเนินการและประสานงาน จัดทำวีดิทัศน์ เช่น ผีเฝ้าราง เป็นต้น
3.ปิดทางลักผ่านทั่วประเทศ ตามมติคณะกรรมการร่วมแก้ปัญหาจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟฯ โดยขอความร่วมมือกับทางจังหวัด เพื่อลดปัญหาด้านมวลชน
4.กระทรวงคมนาคมเน้นให้สร้างเครื่องกั้นถนนบริเวณทางตัดทุกแห่ง โดยคณะกรรมการร่วมแก้ปัญหาจุดตัดเสมอระดับ ทางรถไฟฯ ได้ดำเนินการขอจัดทำตามมติ
5.ทำหนังสือแจ้งทางตัดผ่านทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต (ทางลักผ่าน) และ ที่รับอนุญาตในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้ช่วย แก้ปัญหาในการของบประมาณทำเครื่องกั้น และทางต่างระดับ
6.โครงการนำร่องแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
และ 7.ในการพิจารณา ขออนุญาตเปิดทางผ่านเสมอระดับของคณะทำงานฯ จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณา ลดทางตัดผ่านและอนุญาตเฉพาะรายระหว่างทางรถไฟกับทางรถยนต์
“ก่อนข้ามทางรถไฟ ขอให้ท่านหยุด ดูสักนิด ดูซ้าย ดูขวา เพื่อความปลอดภัย ของท่านเอง สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ ถ้าคุณเห็นทางรถไฟ อย่าคิดว่าไม่มีรถไฟ ต้องเตือนสติตัวเองตลอดว่ามีไว้ก่อน”
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ