หยุดบุหรี่ในโรงเรียน หยุดสิงห์ขี้ยาหน้าใหม่
บุหรี่ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยใดก็ยังคงถือเป็นภัยร้ายทำลายคนในสังคมอยู่เหมือนเดิม…แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะแย่ลงไปอีกเมื่ออายุเฉลี่ยของผู้สูบกลับน้อยลงทุกวัน เพราะเป้าหมายการค้าของธุรกิจเหล่านั้นกลับมุ่งไปที่เยาวชน นักสูบหน้าใหม่อายุน้อยจึงเพิ่มขึ้น….หากปล่อยเอาไว้เยาวชนเกินครึ่งของประเทศต้องตกเป็นทาสของบุหรี่เป็นแน่…
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จับมือกับ กระทรวงศึกษาธิการ เครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือในการควบคุมยาสูบในสถานศึกษา ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 โดยผู้บริหารสถานศึกษาต้องร่วมกำหนดมาตรการปลอดบุหรี่ร่วมกับครู อาจารย์ ผู้ปกครองและชุมชน รวมทั้งจะกำหนดให้บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่ และสำรวจสภาพการใช้สารเสพติดในสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปีละ 2 ครั้ง เพื่อจัดระบบการดูแล ป้องกัน สร้างจิตสำนึก รวมทั้งบำบัดรักษา ซึ่งเป็นการให้ความรู้ควบคู่การควบคุม โดยจะมีโทษทางวินัยหากพบว่ามีการสูบบุหรี่เมื่ออยู่ในเครื่องแบบ
ทั้งนี้ จากข้อมูลเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดเมื่อปี 2552 ทำการสำรวจเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี ทั่วประเทศจำนวน 7,649 คน พบว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ทั้งชนิดมีควันและไม่มีควันอยู่ที่ 15.6% และ 45.7% สัมผัสควันบุหรี่มือสองทั้งในบ้านและนอกบ้าน ที่น่าเป็นห่วงคือ เยาวชน 28.9% คิดว่าการสูบบุหรี่ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น และอีก 8.3% คิดว่าการสูบบุหรี่ทำให้มีเสน่ห์ แต่ก็ยังมีเยาวชนที่ต้องการเลิกบุหรี่ถึง 75.5% ดังนั้นการให้ความรู้และความช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่จึงน่าจะเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อไม่ให้เยาวชนกลายเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่
นางอนงค์ พัวตระกูล รองประธานเครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกเล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า โดยปกติการแพร่หลายบุหรี่ในโรงเรียนนั้น ก็มาจากเด็กนักเรียนเพียงหนึ่งคนที่อยากลอง และก็จะเอามาแจกให้เพื่อนๆ ลอง ทำให้บุหรี่มีการกระจายไปในวงกว้างได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าหากโรงเรียนหรือคุณครูไม่เห็นความสำคัญของการป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการสูบบุหรี่ในเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ยอดตัวเลขผู้สูบบุหรี่ทุกระดับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมายังพบอีกว่า ปัญหาหนักจะอยู่ที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีจำนวนนักสูบหน้าใหม่จำนวนมาก ด้วยเหตุเพราะอยากลอง หรือเพื่อนชักชวน หากแต่จะพูดถึงความถี่ในการสูบนั้นปัญหาจะกลับไปอยู่ที่เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่า ซึ่งแนวทางที่จะสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกส่วน ทั้งโรงเรียนรวมถึงผู้ปกครองต้องเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งในหลายโรงเรียนที่เป็นเครือข่าย หากพบว่าเด็กนักเรียนแอบลักลอบสูบบุหรี่ ทางโรงเรียนก็จะนำตัวนักเรียนมานั่งพูดคุยถึงสาเหตุ และมีข้อตกลงกันว่าจะไม่สูบอีก พร้อมทั้งเรียนเชิญผู้ปกครองมารับทราบถึงปัญหาอีกด้วย”รองประธานเครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าว
นางอนงค์ บอกอีกว่า เด็กแต่ละคนก็จะต้องมีทางแก้ไขคนละแบบ โดยให้เจ้าตัวเป็นคนเลือกเอง เช่น ให้เลิกเอง และเราเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ทั้งการใช้มะนาวเพื่อลดความอยาก ใช้ดนตรีและกีฬาเข้ามาแทนที่ เพื่อให้เด็กมีเวลาทำกิจกรรมและลืมเรื่องบุหรี่ บางรายไม่สามารถเลิกเองได้ ก็จำเป็นที่ทางโรงเรียนต้องเป็นผู้ประสานไปในหน่วยงานที่ทำหน้าที่เลิกบุหรี่ เช่น โรงพยาบาลหรือคลินิกเลิกบุหรี่ นอกจากนี้เพื่อนๆ คุณครูและบุคคลในโรงเรียนเองก็จะช่วยกันดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วงเวลาของการเลิกสูบบุหรี่ในช่วง 2-3 วันแรกเด็กจะทรมาน อยากสูบมากๆ แต่ทั้งนั้นทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ ดังนั้น กำลังใจจากคนรอบข้างจึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการเลิกบุหรี่ของเด็กเพราะหากปล่อยทิ้งเขาไว้ให้แก้ไขปัญหาเพียงลำพัง ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเขาย้อนกลับไปสูบใหม่อีกครั้ง
อ.อนงค์ กล่าวต่อไปว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานกับเด็กมา หลังจากเด็กสามารถเลิกบุหรี่ได้แล้ว สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ พอเด็กได้กลิ่นบุหรี่หรือเพื่อนชวนเพียงเล็กน้อย เด็กก็จะไม่สามารถห้ามใจตนเองได้และกลับไปสูบอีก เพราะฉะนั้นเรื่องของการดูแลต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ จะปล่อย ละเลยหรือทิ้งไม่ได้เด็ดขาด หลายคนอาจมองข้ามตรงนี้ไป เพราะที่ผ่านจากการสำรวจ หากไม่มีการดูแลเด็กที่เลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่องแล้ว กว่า 70-80 % เด็กจะกลับไปสูบอีกครั้ง แต่ในทางกลับกันหากเราดูแลเขาได้อย่างต่อเนื่องไปจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนใหญ่เด็กจะไม่หันไปสูบบุหรี่อีกเลย
“ถึงอย่างไรก็ตามอยากเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการผลักดันให้เกิดการเรียนการสอน เรื่องบุหรี่ในหลักการเรียนการสอน รวมถึงจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายได้จัดทำคู่มือครูในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “โรงเรียนปลอดบุหรี่”เพื่อกระจายให้ครูได้ใช้ในการเรียนการสอน หากเป็นโนบายโดยตรงเชื่อว่าน่าจะทำให้การสอนเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น”อ.อนงค์ กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วว่าบุหรี่ไม่ดีสำหรับใครเลย และหากไม่อยากให้ลูกของคุณตกเป็นทาสของบุหรี่แล้วล่ะก็ ทั้งโรงเรียนและครอบครัวเองต้องร่วมมือกันสอดส่องดูแลและให้ความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th