หยุดตีตรา ผู้ที่เคยติดโควิด-19

ที่มา : มติชน


ภาพประกอบจาก สสส.


หยุดตีตรา ผู้ที่เคยติดโควิด-19 thaihealth


นับว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทยในการป้องกันและควบคุมสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จนทำให้มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้จำนวนมาก แต่นอกจากปัญหาด้านสุขภาพในโรงพยาบาล (รพ.) ยังมีปัญหาด้านสังคมที่เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ในการกลับเข้าสู่สังคมของผู้ที่ขึ้นชื่อว่า "เคยติดโควิด-19"


จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ "โครงการพัฒนาสมรรถนะและรูปแบบการดูแลทางสังคมและเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแลและจัดการทางสังคมสำหรับผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่จับมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายรวม 17 หน่วยงาน อาทิ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คลินิกเทเลเมดิซีน (Tele Medicine)


รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า มธ.ผลิตนักสังคมสงเคราะห์ที่มีคุณภาพ จากประสบการณ์ความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน มายาวนานถึง 60 ปี จึงมั่นใจจะว่านักสังคมสงเคราะห์ของ มธ.จะรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ เมื่อเดือนมีนาคม ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ครอบคลุมทางสังคม เสริมพลังให้ผู้ป่วยพร้อมรับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และการดูแลสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ต้องพร้อมให้บริการผ่านรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal บนระบบออนไลน์ ต้องเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ ไปจนถึงการสร้างความรู้เสริมพลังชุมชนให้สามารถเฝ้าระวัง ดูแล จัดการทางสังคมสำหรับผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19


"มธ.และ 17 ภาคีองค์กร ได้จัดทำโครงการ ที่นับเป็นภารกิจพัฒนาระบบดูแลสุขภาพเพื่อประชาชนแบบองค์รวม และพัฒนาสมรรถนะของนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาจำนวน 200 คน ในโครงการ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย จากหลายหน่วยงาน ตั้งเป้าดำเนินการในระยะเวลา 1 ปี ด้วยเครื่องมือการประเมินปัญหาสังคม เด็ก และครอบครัว บนแพลตฟอร์มเทเลเมดิซีน คาดว่าจะมีผู้ป่วยกว่า 1,600 ราย จะได้รับความช่วยเหลือในมิติสุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ต้องขอบคุณ สสส.และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือจนเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อประชาชน" รศ.เกศินีกล่าวศ.ระพีพรรณ คำหอม คณบดีคณะสังคม สงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวถึง 4 หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะการทำงานของนักสังคม สงเคราะห์จิตอาสา ว่า ได้แก่ 1.หลักสูตร Hotline Counseling สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 เพื่อสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับสังคม 2.หลักสูตร Empower Counseling เสริมพลังอำนาจการต่อรองการทำงานกับคนรอบข้างได้ 3.หลักสูตร Cognitive Behavioral การปรับพฤติกรรมไปจนถึงกระบวนความคิดที่มีความซับซ้อน และ 4.หลักสูตร Therapy Mental Health Psycho Social Support การบำบัดเยียวยา ที่จะต้องใช้เวลาในการดูแลยาวนานกว่าหลักสูตรอื่น โดยกระบวนการให้คำปรึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่น วิดีโอทางไกล เพื่อเป็นการดำเนินตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)


"จากการหารือของกรมควบคุมโรค สธ. และ สสส. เรื่องกรณีที่ส่งผู้ที่รักษาหายจาก โควิด-19 กลับบ้าน แต่เกิดปัญหาด้านสังคมในภายหลัง เช่น การถูกตีตรา ถูกมองว่าเป็นตัวเชื้อโรค คนในชุมชนไม่มั่นใจที่จะให้กลับเข้าไปอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) มอบฐานข้อมูลให้แก่ทีมงานของเราเข้าไปติดตามในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ ผ่านออนไลน์ด้วยแอพพ์ จากกลุ่ม Start up พัฒนาขึ้น คือ Clicknic เริ่มต้นโดยจะต้องทำการอัพสกิล-รีสกิล ให้แก่นักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา ในการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย 4 หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะ"ศ.ระพีพรรณกล่าว


ด้าน ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้แก่ประชาชน เพราะมักจะพบว่าผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่อาจติดเชื้อโควิด-19 ต้องเผชิญกับปัญหาทัศนคติของคนรอบข้าง การไม่ถูกยอมรับ การถูกเลือกปฏิบัติจากคนในชุมชน ทั้งยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจในกรณีที่ต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็กในครอบครัวไม่มีคนดูแล สสส.จึงร่วมกับองค์ภาคีเครือข่าย พัฒนาระบบออนไลน์ให้คำปรึกษาทางสังคมแก่ผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ที่เคยติดเชื้อ โดยนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี ผู้ที่เคยติดเชื้อมีความรู้ในการดูแลตัวเอง เกิดความมั่นใจมากขึ้นเมื่อกลับเข้าสู่สังคม ส่วนคนในครอบครัวได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม


"ในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 มีหลายมิติที่จะต้องทำงานร่วมกันทางด้านสุขภาวะ ไม่ใช่เพียงการป้องกัน คัดกรอง กักกันโรคเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูแลสุขภาวะสังคมของ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในผู้ที่มีความเสี่ยง ผู้ติดเชื้อ ผู้ที่ได้รับการรักษาหายแล้ว จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ จะต้องทำงานควบคู่กันไป สสส.ได้ช่วยสื่อสาร ไทยรู้ สู้โควิด-19 มาตั้งแต่ต้น เพื่อให้ประชาชนรับรู้ความร้ายแรงของโรคให้เร็วที่สุด รู้วิธีปฏิบัติตัวป้องกันโรค และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราเรียนรู้ว่าความกลัวที่มากเกินพอดี สร้างปัญหาในทางอ้อมหลายอย่าง เช่น ความรังเกียจ การตีตรา ส่งผลให้มาตรการต่างๆ ได้ผลน้อยลง มีการปกปิดความจริงในการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก" ทพ.สุปรีดากล่าวในตอนท้าย


นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 นั้น มีความสัมพันธ์กับมิติทางสังคมอย่างยิ่ง แม้ว่าวันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะเริ่มดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง แต่ยังมีความจำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอยู่ เนื่องจากหลายประเทศพบการกลับมาระบาดรอบใหม่ ดังนั้น การเสริมย้ำความรู้ในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม ยังคงต้องย้ำกันอย่างต่อเนื่อง ทุกคนควรตระหนักว่าตนเองต่างมีโอกาสติดเชื้อได้เหมือนกัน และต้องไม่ลืมป้องกันตัวเองเมื่อออกไปใช้ชีวิตในสังคม


"ผมต้องขอขอบคุณนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาจากทุกสถาบัน รวมทั้งภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับผู้ที่หายติดเชื้อ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ อันเป็นการช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขได้อย่างยิ่งอีกทาง" นพ.อัษฎางค์กล่าว


โรคภัยเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราต้องเผชิญหน้าอย่างเข้าใจ ไม่ตอกย้ำสังคม ลดความกลัว เพิ่มพลังให้แก่ ผู้ที่ขึ้นชื่อว่า "เคยติดโควิด-19" ให้กลับมาอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมั่นใจ และเพื่อให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

Shares:
QR Code :
QR Code