“หมอเด็ก” ชี้เด็กเล็กมีแนวโน้มแพ้นมวัวมากขึ้น
แนะแม่หลังคลอดให้นมลูกอย่างน้อย 6 เดือนก่อน
รศ.พญ.พรรทิพา ฉัตรชาตรี หน่วยโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่าปัจจุบันปัญหาโรคภูมิแพ้ในเด็กมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยจากการสำรวจการแพ้อาหารทั่วโลกในเด็กเล็ก อายุระหว่าง 2-6 ปี พบว่าร้อยละ 2-8 ของประชากรเด็กทั่วโลก เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากการแพ้อาหารโดยเฉพาะนมวัวและไข่ และจะมีอาการแพ้ที่แตกต่างกันออกไป อาทิ บางรายมีผื่นขึ้น บางรายเป็นลม พิษ อาเจียน และถ่ายเป็นเลือด จนเกิดอาการช็อกถึงขั้นเสีย ชีวิตได้ อย่างไรก็ตามจากรายงานดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานการแพ้อาหารของเด็กเล็ก ในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 2-8 ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ มีอาการแพ้นมวัวและไข่เช่นกัน
รศ.พญ.พรรทิพา กล่าวอีกว่า สำหรับการรักษาเด็กที่มีอาการแพ้อาหาร แพทย์จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากโดยทั่วไปมารดาจะไม่สามารถทราบได้ว่าบุตรของตนเองมีอาการแพ้อาหารหรือไม่นอกจากจะมีอาการแพ้เกิดขึ้นก่อน ดังนั้นคำแนะนำของแพทย์สำหรับมารดาที่พึ่ง คลอดบุตรที่มีปัจจัยเสี่ยงที่บุตรอาจมีอาการแพ้อาหาร อาทิ เคยมีบุตรหรือสมาชิก ในครอบครัวเคยมีอาการแพ้อาหารมาก่อน ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุด คือให้บุตรทานนมของแม่ให้นานที่สุดอย่างน้อย 6 เดือน และควรให้อาหารเสริม ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ หลังจากเด็กมีอายุ 10-12 ขวบ ส่วนอาหารทะเลควรให้รับประทานหลังจากที่เด็กมีอายุ 2 ปีขึ้นไป
"สำหรับแม่ที่มีลูกแพ้นมแม่หรือนมวัว สามารถให้ลูกดื่มนมถั่วเหลืองทดแทน รวมทั้งนมสูตรโปรตีน พิเศษสูตรทดแทนที่ปรับโครงสร้างให้แพ้น้อยซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดได้ แต่การเลือกนมสูตรทดแทนดังกล่าวจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากหากเด็กรับสารอาหารไม่เพียงพออาจเป็นโรคขาดสารอาหารแทนโรคแพ้อาหารได้ อย่างไรก็ตามร้อยละ80-90 ของเด็กที่แพ้นมวัวจะหายได้เอง เมื่อมีอายุ 3 ปีขึ้นไป" รศ.พญ.พรรทิพา กล่าว
รศ.พญ.พรรทิพา กล่าวว่า เนื่องจากโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากการแพ้อาหาร ถือเป็นโรคใหม่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากใน 5 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันการแพ้อาหาร โดยเฉพาะประเทศที่มีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ได้ทำการทดลองโดยนำอาหาร ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ถั่ว นมวัว ไข่ มาดัดแปลงโครงสร้างเพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกัน รวมทั้งการคิดค้นกลไกที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการทนต่ออาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เองโดยอัตโนมัติ
ส่วนข้อกังวลต่ออาหารตัดแต่งพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอว่าอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้นั้น ขณะนี้อาหารจีเอ็มโอที่ วางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วโลก จะต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียด จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆว่าจะต้องไม่มีส่วนผสมจากยีนส์ของพืชและ สัตว์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าอาหารจีเอ็มโอนั้นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ ผู้บริโภคเกิดอาการแพ้ด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่ชัดเจนว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประชาชนมีอัตราการแพ้อาหารเพิ่มมากขึ้น แต่ที่น่าสังเกตคือมักจะเกิดขึ้นในแถบประเทศที่เจริญมากอาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป รวมทั้งประเทศในแถบเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ไทย เป็นต้น
ที่มา
ข้อมูลจาก : สยามรัฐ
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 14-12-50