‘หมอลำ’ สานสัมพันธ์สองฝั่งโขง

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากเฟซบุ๊กครูยอด


'หมอลำ' สานสัมพันธ์สองฝั่งโขง thaihealth


"ผมทำงานเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศต่างๆในฐานะทูตมาตลอด 30 ปี สิ่งที่ผมทำยังไม่สำเร็จเท่ากับการที่ แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน มาลำที่นี่ในวันนี้"


ดนัย การพจน์ กงสุลใหญ่  ประจำสถานกงสุลไทยในแขวงสะหวันเขตสปป.ลาว ได้กล่าวเอาไว้ในวันที่คณะศิลปิน นักเขียน นักวิชาการจากอีสานกว่า  60 ชีวิต ได้เดินทางไปร่วมสานสัมพันธ์วรรณกรรมสองฝั่งโขงครั้งที่ 3 ในชื่อ "มหกรรมขับ-ลำ มรดกล้านช้าง"  ณ แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว  เมื่อวันที่ 21-23 กรกฎาคมที่ผ่านมา


โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ข้อมูลลาว (ฝ่ายการต่างประเทศ) และ สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สโมสรนักเขียนภาคอีสาน, เครือข่ายศิลปินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ สมาคม นักประพันธ์ลาว เป็นองค์กรร่วมจัด  และมีหน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (IES) ที่สนับสนุนงบประมาณให้มีการจัดงานครั้งนี้ขึ้น


คำพูดของท่านกงสุลใหญ่ในครั้งนี้ ไม่ใช่คำพูดเกินจริง เพราะบรรยากาศ ทั้ง 3 วันตั้งแต่วันแรกที่มีการประชุมใน ห้องสัมมนา เปิดงานด้วยการแสดงหมอลำ ของศิลปินแห่งชาติชาวไทย คุณแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน และศิลปินจากสปป.ลาว โดยใช้พื้นที่โรงแรมดาวสะหวัน รีสอร์ต แอนด์ สปา ในเมืองสะหวันนะเขต  ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาทั้งหมด ทั้งไทยและ'หมอลำ' สานสัมพันธ์สองฝั่งโขง thaihealthลาวรวมกว่า 200 คน สนุกสนานตั้งแต่พิธีเปิดที่มีท่านคำพูน ตุไพทูน รองเจ้าแขวง สะหวันนะเขต สปป.ลาว เป็นประธานฝ่ายสปป.ลาวรองเจ้าแขวงสะหวันนะเขต เป็นประธานเปิดงาน และสนุกสนาน ต่อเนื่อง เพราะการเสวนาวิชาการ  สลับกับการสาธิตการลำของศิลปินที่ไปร่วมงาน ทั้งไทยและสปป.ลาว ทำเอาบรรยากาศวิชาการ เป็นบรรยากาศสนุกสนานแบบไม่เคยมีมาก่อน


"ถือเป็นความสำเร็จมากในการเชื่อมความสัมพันธ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะการหยิบเอาหัวข้อเรื่องการขับ-ลำ ซึ่งอีสานเราเรียกหมอลำ แต่คนลาวเรียกขับลำ มาเป็นประเด็นร่วมในการเสวนา เพราะรากเหง้าแล้วมีแต่คนอีสานกับคนลาวที่ฟัง หมอลำ คนภาคอื่นเขาไม่ฟัง บรรยากาศวันนี้จึงไม่ใช่การสัมมนาธรรมดา แต่เสมือนการมาเยี่ยมญาติและเดินตามหาอดีตของพวกเราด้วย" คำสิงห์ ศรีนอก หรือ ลาว คำหอม ศิลปินแห่งชาติ องค์ปาฐกถาร่วมกับท่านนางดวงเดือน บุนยาวง ศิลปินดีเด่นและนักเขียนซีไรต์ของสปป.ลาว บอกเล่า หลังจากอยู่ ร่วมงานตั้งแต่ต้นจนจบ


การเดินทางไปครั้งนี้คณะนักเขียนไทย และศิลปินหมอลำที่เดินทางไปร่วมด้วย นอกจากหมอลำฉวีวรรณ ดำเนินแล้ว  ยังมี ราตรี ศรีวิไล, ผมหอม สกุลไทย, พ่อเมฆ และแม่กอง ศรีกำพล ศิลปินมรดกอีสาน ร่วมด้วย ส่วนนักเขียนนั้น มีทั้ง เจริญ กุลสุวรรณ, ปราโมทย์ ในจิต, สมนึก พานิชยกิจ, ประยงค์ มูลสาร ศิลปินมรดกอีสาน สุมาลี สุวรรณกร ประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสาน, สมชัย คำเพราะ, ศราวุธ วังคะฮาต, โกเมศ มาสขาว พร้อมนักวิชาการด้านวัฒนธรรม จากหลายมหาวิทยาลัยทั่วอีสาน ไม่ว่าจะเป็น ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์, ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ จาก มข. และ ดร.เกรียงไกร ผาสุตะ จากม.นครพนม, ดร.คำหล้า มุสิกา จาก ม.อุบลราชธานี ซึ่งล้วนแล้วแต่ชื่นชอบและมีความทรงจำร่วมเกี่ยวกับหมอลำแทบทั้งสิ้น


"ชอบมากเลยครับ และดีใจที่มีโอกาส มาร่วมงานในครั้งนี้ หากไม่ได้มาคงเสียดาย เพราะนี่คือการสานสัมพันธ์และเอาเรื่องวัฒนธรรมหมอลำมานำเสนอเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ถือเป็นความทรงจำร่วมของคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงมีร่วมกัน แค่ชื่อแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน ก็เรียกคน ได้แล้ว ผมเห็นภาพคนแห่แหนมาชม แม่ฉวีวรรณร้องหมอลำแล้วผมขนลุก กลอนลำกลอนเดียวเชื่อมหัวใจคนสองฝั่งเข้าด้วยกันมันสุดยอดจริงๆ" ดร.เกรียงไกร ผาสุตะ จากมหาวิทยาลัยนครพนม บอกเล่าความรู้สึกหลังได้ร่วมกิจกรรม ในครั้งแรก'หมอลำ' สานสัมพันธ์สองฝั่งโขง thaihealth


ภาพที่บอกเล่า ภาพชาวบ้านเมืองโพนสิม แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว หอบลูกจูงหลานมารอฟังเสียงลำของ คุณแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน เต็มลานบ้าน  แม้อากาศจะร้อนจัดแค่ไหน แต่ก็ไม่สนใจ เสียงขับลำของสองประเทศ ที่สลับกันร้อง และ ลำ พร้อมกับฟ้อนลำด้วยความม่วนซื่น พร้อมกิจกรรมการบายศรีสู่ขวัญที่ได้จัดขึ้นอย่างตั้งอกตั้งใจเพื่อต้อนรับคณะที่ไป สร้างความประทับใจอย่างมากให้กับผู้ที่ได้ไปร่วมในงานครั้งนี้


ความประทับใจที่เกิดขึ้นสร้างความปลาบปลื้มยินดี ให้กับผู้จัดงานและ ผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะ ทองใบ โพธิสาน นายกสมาคมนักประพันธ์ลาว พร้อมสมาชิก ไม่ว่าจะเป็น ท่านสุบัน หลวงลาด, โอทอง คำอินซู, สมสุก สุกสะหวัด, หงเหินขุนพิทักษ์ และสุขี นรศิลป์ ที่เป็นหัวเรี่ยว หัวแรงสำคัญในการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดในครั้งนี้ก็ยิ้มไม่หุบกับคำชมที่ทุกคนล้วนชื่นชมและชมเชยกันตลอดทั้งงาน


นี่คงเป็นอีกก้าวกับการสานสัมพันธ์ ของเพื่อนบ้านสองฝั่ง โดยใช้วรรณกรรม และวัฒนธรรมเป็นสื่อเชื่อมโยง และความทรงจำที่เกิดขึ้นคงไม่มีวันเสื่อมคลายตราบใดที่แม่น้ำโขงยังเรื่อยไหล พี่น้องทั้งไทยและสปป.ลาว ก็ยังคงจะรักกันมั่นแก่น เหมือนแป้นแผ่นเดียวกันตลอดไป

Shares:
QR Code :
QR Code