หมอลำหุ่น-เล่าเรื่องโกง เดินหน้าสู่เวทีโลก
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมพีช พัทยา จ.ชลบุรี ในการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 (the 21th iuhpe world conference on health promotion 2013) โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมถึง 81 ประเทศ
ครั้งนี้แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้เป็นอีกหนึ่งตัวแทนประเทศไทยนำเสนอการงานด้านศิลปวัฒนธรรม แบบออรัล พรีเซนเทชั่น (oral presentation) ประเภทการใช้ศิลปะและการละครในการสื่อสารสุขภาพ (using art and drama to communicate health) ถึง 2 ผลงาน
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สำหรับการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้ถูกคัดเลือกให้เป็น 2 ใน 6 ผลงานที่ได้มีโอกาสมานำเสนอต่อนานาประเทศ แบบออรัล พรีเซนเทชั่น ประเภทการใช้ศิลปะและการละครในการสื่อสารสุขภาพ โดยทั้ง 2 ผลงานนี้เป็นผลงานที่น่าสนใจ นั่นก็เป็น 1.โครงการ“เล่าเรื่องโกง” เท่าทันการโกง ผ่านศิลปิน เรื่องสั้น หนังสั้น และละครเร่ และ 2.โครงการ “หมอลำหุ่น” สื่อศิลปะฯ เพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมเสพติดวัตถุนิยมในหมู่เยาวชน เพื่อเป็นกรณีศึกษาและเป็นต้นแบบให้นานาประเทศที่ทำงานด้านนี้นำไปพัฒนาและเป็นต้นแบบงานด้านสุขภาพในประเทศของตัวเองต่อไป
สำหรับโครงการ “เล่าเรื่องโกง” เท่าทันการโกง ผ่านศิลปิน เรื่องสั้น หนังสั้น และละครเร่ นั้น นายดนัย ในฐานะผู้นำเสนอผลงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมมองว่า “การโกง” เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และนับวันยิ่งหยั่งรากฝังรากลึกลงสู่สังคมไทยอย่างแนบเนียน ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ.2554) พบว่าประเทศไทยโกงติดอันดับที่ 80 จาก 182 ประเทศ มีคะแนนอยู่ที่ 3.4 จาก 10 คะแนน โครงการ “เล่าเรื่องโกง” เท่าทันการโกง จึงเปิดให้เยาวชนและศิลปินที่มีชื่อเสียงในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสื่อสารและรณรงค์ต่อสังคมผ่านเรื่องสั้นฝีมือเยาวชน 11 เรื่อง นักเขียนกิตติมศักดิ์ 11 เรื่อง, หนังสั้นผลงานเยาวชน 10 เรื่อง ผ่านผู้กำกับมืออาชีพ 11 เรื่อง และละครเร่เรื่อง ไม้พยูงต้นเดียว อีก 1 เรื่อง โดยจากกลุ่มเยาวชน “เด็กรักป่า” ที่ได้เรียนรู้จากศูนย์ศึกษาธรรมชาติเด็กรักป่า นำเสนอเรื่อง “ไม้พยุงต้นเดียว” เนื้อหาจากเหตุการณ์จริงในพื้นที่ป่าชุมชน ที่ไม้พยุงถูกลักลอบตัด สื่อให้เห็นการโกงธรรมชาติของมนุษย์ เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทย ดำเนินการตระเวนถ่ายทอดการแสดงในทุกภูมิภาค
โครงการ “เล่าเรื่องโกง” เท่าทันการโกงนั้นได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในกลุ่มคนที่หลากหลาย ได้แก่ กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็น กลุ่มเยาวชนสามารถเข้าถึงงานศิลปะที่ทำให้เกิดทัศนคติที่ดีในการร่วมกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และร่วมกันสร้างสังคมที่ดี กลุ่มศิลปินได้เห็นคุณค่าของผลงานที่ตนเองได้สร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะเพื่อการรับใช้สังคมมากยิ่งขึ้น กลุ่มผู้ชมผลงานได้สร้างความเข้าใจ ตระหนัก รับรู้ นำไปสู่การต่อต้านการโกงทุกรูปแบบ และกลุ่มองค์กรที่ให้การสนับสนุน เกิดความตระหนัก รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และองค์กรสารมารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ภายใต้ศักยภาพของแต่ละองค์กรที่มีอยู่ การกำหนด“ประเด็น” ในการขับเคลื่อนจึงมีความสำคัญก่อนการกำหนดการใช้ “สื่อ” เพื่อให้เข้าถึงการแก้ปัญหาในประเด็นนั้นๆ เพราะ “สื่อศิลปวัฒนธรรม” ไม่ได้ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยตรง แต่สื่อศิลปวัฒนธรรมไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในระดับปัจเจกบุคคล และต่อยอดไปสู่ กลุ่ม หน่วยงาน องค์กร ชุมชน สังคม และประเทศ ที่ปัจเจกบุคคลเป็นส่วนหนึ่งในทุกระดับ
สำหรับ โครงการ “หมอลำหุ่น” สื่อศิลปะฯ เพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมเสพติดวัตถุนิยมในหมู่เยาวชน ดร.กันยิกา ชอว์ ในฐานะผู้นำเสนอผลงาน กล่าวว่า เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบัน กระแสความนิยมผ่านสื่อมวลชนได้เข้ามามีอิทธิพลต่อค่านิยมของผู้คนอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน คณะทำงานในพื้นที่ได้ดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันกับชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ ใน อ.นาดูน จ.มหาสารคามซึ่งพบว่า เด็กและเยาวชนในพื้นที่ตกอยู่ในสภาวะของกลุ่มเสี่ยงของการเสพติดวัตถุนิยมโดยไม่รู้เท่าทันสื่อ อาทิ โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา กระแสแฟชั่น รวมทั้งสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ โดยสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งหลากหลายปัญหา เช่น ปัญหาเรื่องเพศในวัยเรียน การติดสื่อลามกอนาจาร กระแสแฟชั่นนิยม การครอบงำทางวัตถุนิยมที่เยาวชนใช้ทดแทนความอบอุ่นจากครอบครัวที่พ่อแม่ต้องดิ้นรนอพยพไปทำงานต่างถิ่นด้วยพิษเศรษฐกิจ
โครงการ “หมอลำหุ่น…สื่อศิลปะฯ เพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมเสพติดวัตถุนิยมในหมู่เยาวชน” โดยกลุ่มออมทอง ได้นำกระบวนการละครหมอลำหุ่น มาประยุกต์ใช้เป็นสื่อเผยแพร่ โดยให้แกนนำเยาวชนในชุมชนประมาณ 16 คน ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสความนิยมของสื่อสมัยใหม่ มาฝึกหัดทำเป็นละครสู่ชุมชน ในการฝึกทำละครหุ่นนั้นประกอบด้วยศิลปะหลากหลาย เช่น การทำหุ่นกระบอกจากวัสดุเหลือใช้ การสร้างสรรค์งานจากการลำ การร้อง การต่อกลอน โดยร้อยเรียงจากความคิดกลุ่มเยาวชนที่มีการพูดคุยปัญหาที่ตนเองพบเจอแล้วนำมาทำเป็นบทละครสะท้อนปัญหาชุมชนที่เกิดขึ้น กิจกรรมทั้งหมดจะมีหน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมด้วย หลังจากที่ได้ผลงานแล้วจึงนำมาเผยแพร่ผ่านสถานที่ต่างๆ ภายในจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โรงเรียนบ้านดงบัง ชุมชนบ้านเขวาทุ่ง ฯลฯ
“ผลที่ได้รับจากการทำโครงการทำให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ผ่านงานสื่อศิลปวัฒนธรรมหมอลำหุ่น และเยาวชนได้ตระหนักรู้ ลดการเสพติดวัตถุนิยม สามารถลดช่องว่างการใช้จ่ายได้มากขึ้น กล่าวคือ จากการลงพื้นที่ประเมินผลการจัดกิจกรรม ณ ชุมชนบ้านเขวาทุ่ง ต.ภารแอ่น อ.พยัฆภูมิพิสัย พบว่า มีกลุ่มเยาวชนประมาณ 10 คน มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมจากที่เคยใช้เวลาในการเล่นเกมส์ ขับซิ่งมอเตอร์ไซค์ ก็หันมาทำกิจกรรมละครหุ่น มีการนำผลงานไปเผยแพร่ยังสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดมหาสารคาม อีกทั้ง หมอลำหุ่นนั้นมีเนื้อหาที่สอดแทรกเรื่องศีลธรรม ทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนักและลดพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทางด้านวัตถุนิยมได้มากขึ้น” ดร.กันยิกา ชอว์ กล่าว
ทั้งนี้ ดร.กันยิกา ชอว์ ได้กล่าวต่อว่า การที่ทั้ง 2 โครงการที่อยู่ภายใต้การทำงานของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและมีโอกาสได้นำเสนองานในเวทีประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 นี้ นับเป็นความประสบความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งที่สื่อศิลปวัฒนธรรมของไทยได้เผยแพร่และเป็นที่รู้จักมากขึ้น อนาคตไม่เพียงแต่นานาประเทศจะรู้จักและนำการทำงานแบบทั้งสองโครงการนี้ไปเป็นแบบอย่างให้กับประเทศตนเองแล้ว เด็กและเยาวชนเจ้าของผลงานเองนอกจากจะเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตนไปด้วย …แน่นอนว่านี่จะเป็นการปลุกและกระตุ้นให้พวกเขาตั้งใจทำหน้าที่ในการสืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของตนเองให้คงอยู่ได้นานสืบไปด้วยแน่นอน
ที่มา : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.