‘หมอฟัน’ พาเลิกบุหรี่ได้
แนะวิธีหยุดสูบขณะทำฟัน
บุหรี่ 1 มวนประกอบด้วยสารต่างๆ มากกว่า 4,000 ชนิด นอกจากทาร์นิโคตินยังมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนียและสารอาร์ซีนิค มีสารเคมีอย่างน้อย 43 ชนิด ที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งปอด คอ ปากกระเพาะปัสสาวะ และที่ตับ
มีตัวเลขว่าในปี ค.ศ.2020 จะมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 20 ล้านคนทั่วโลก และน่าดีใจว่าประเทศไทยสามารถออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ได้สำเร็จดีกว่าประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้ว และยังยืนยันที่จะทำงานต่อต้านและดูแลกลุ่มผู้สูบบุหรี่ให้หยุดสูบบุหรี่ต่อไป
ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (เอแบคโพล) สำรวจประชาชนอายุ 12 – 60 ปี จำนวน 2,823 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 22 ก.ค. – 9 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทพ.ดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกสมาคมทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหนึ่งคือ 55.1 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า ทันตแพทย์ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ และในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ 89.7 เปอร์เซ็นต์ ยินดีรับฟังคำแนะนำวิธีเลิกบุหรี่ระหว่างการรักษาฟัน และนั่นจึงเป็นอีกโครงการของทันตแพทยสมาคมฯ จะเชิญชวนให้ผู้ใช้บริการ ลด ละ เลิกบุหรี่ ภายใต้ชื่อโครงการ วิชาชีพทันตแพทย์เพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ
รศ.ทพญ.วรานันท์ บัวจีบ รองคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่าการบริโภคยาสูบทุกชนิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพช่องปาก มีโอกาสเป็นมะเร็งช่องปากสูงกว่าคนปกติ 7 เท่า เพราะควันและความร้อนจากบุหรี่จะระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก ทำให้เพดานปากอักเสบและหนาตัว ในน้ำลายผู้สูบบุหรี่มีสารพิษก่อมะเร็งหลายชนิดจึงมีโอกาสพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อในปากหรือรอยโรคก่อมะเร็งสูง
นอกจากนี้สารทาร์จากบุหรี่ที่เหนียวจับบนผิวฟันทำให้ช่องปากสกปรก ทำความสะอาดยาก และทำให้มีกลิ่นปาก ผู้สูบบุหรี่จะมีน้ำลายลดลง ฟันจะผุง่าย และสารนิโคตินจากบุหรี่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดเลี้ยงที่บริเวณเหงือกน้อยลง โรคเหงือกจึงลุกลามง่ายและอาจตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร และแผลถอนฟันของผู้สูบบุหรี่จะหายช้า รวมทั้งการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของทันตกรรมรากเทียม
“โครงการดังกล่าวจะตรวจฟันของผู้สูบบุหรี่เพื่อหารอยโรคที่จะก่อมะเร็งในช่องปาก โดยทันตแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการจะทำฟันและแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกหยุดปัจจัยเสี่ยงโดยมีการส่งต่อกับหน่วยงานที่มีวิธีเลิกบุหรี่เช่น ร้านขายยาโดยเภสัชกร คลินิกเลิกบุหรี่โดยจะมีการติดตามผล กรณีที่พบรอยโรคที่ก่อมะเร็งในช่องปาก จะแนะนำให้คนไข้หยุดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็น่าหนักใจคนไข้บางคนไม่เชื่อ เพราะรอยโรคส่วนใหญ่จะยังไม่ก่อให้เกิดอาการอย่างใดออกมา”
ทพ.สุธา เจียรมณีโชติ ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย เปิดเผยว่า จากรายงานผลการตรวจคัดกรองรอยโรคก่อมะเร็งในช่องปากในโรงพยาบาลนำร่อง 4 จังหวัด คือ กระบี่ พิษณุโลกนครศรีธรรมราช และสมุทรสาคร มีผู้สูบบุหรี่อายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน และผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป จำนวน 1,683 พบเป็นโรคมะเร็งช่องปาก 11 คน และพบผู้มีรอยโรคก่อมะเร็งจำนวน 33 คน
“ถือเป็นสถิติที่สูงมากทั้งที่ข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า อัตราผู้ป่วยมะเร็งช่องปากของคนไทย อยู่ที่ 6 คนต่อประชากร 1 แสนคน ดังนั้นการคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในกลุ่มเสี่ยงอย่างจริงจังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากพบตั้งแต่แรกจะเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และยังลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐนับแสนบาทต่อคน”
ด้าน ทพ.ธีระศักดิ์ ชาวสวนเจริญ ผู้อำนวยการกองทันตสาธารณสุขสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าผู้ที่สนใจเลิกบุหรี่สามารถปรึกษาได้ที่คลินิกทันตกรรมของศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัด กทม. 70 แห่งทั่ว กทม. และคลินิกทันตกรรมในโรงพยาบาล 8 แห่ง คือ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.สิรินธรรพ.ราชพิพัฒน์ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพ รพ.เวชการุณรัศมิ์ และ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ซึ่งขณะนี้มีผู้มาใช้บริการขอคำแนะนำของสถานพยาบาลในสังกัด กทม. แล้วกว่า 7,000 คน และสามารถเลิกบุหรี่ได้ 115 คน ทั้งนี้คลินิกทันตกรรมจึงเป็นอีกทางเลือกของผู้ต้องการเลิกบุหรี่
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update : 20-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก