“หมอนรักษ์หลัง” โค้งเหมาะสมแต่ละช่วงวัย

ที่มา :  ผู้จัดการรายวัน 360 องศา



แฟ้มภาพ


ไม่ว่าจะปวดหลังหรือยังไม่ปวด "หมอนรักษ์หลัง" ตัวช่วยสำหรับทุกเพศทุกวัย ด้วยค่า ความโค้งที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย และแตกต่างกันไปแต่ละเพศ ช่วยพยุงและลดการปวด ใช้สวมใส่ให้แนบติดกับหลังส่วนล่างได้ตลอดเวลา


"หมอนรักษ์หลัง" เป็นผลงานที่พัฒนาโดยมี รศ.ดร.รุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล สายวิชากายภาพ บำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแกนนำ และได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม ที่ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษาระดับปริญญาโท


ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ประดิษฐ์นวัตกรรมหมอนรองหลังเพื่อสุขภาพที่มีค่าความโค้งเหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุของคนไทยทั้งเพศหญิงและเพศชาย วัยทำงานและผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยที่รักษาด้วยหมอนรองหลังร่วมกับการทำกายภาพมีค่าเฉลี่ยอาการปวดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถนำไปใช้ป้องกัน หรือรักษาอาการปวดหลังในพนักงานทุกอาชีพในทุกอิริยาบถ เนื่องจากแนบติดหลังส่วนล่างของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา


สำหรับหมอนรักษ์หลังนี้ผลิตขึ้นโดยใช้วัสดุตามธรรมชาติ เช่น นุ่น จึงทำให้ระบายอากาศได้ดีและสามารถถอดซักทำความสะอาดได้


รศ.ดร.รุ้งทิพย์ นำเสนอด้วยว่า ผู้ที่สวมใส่หมอนรักษ์หลังยังไม่รู้สึกเหมือนคนไข้เนื่องจากออกแบบไว้อย่างสวยงาม และผลการศึกษาพบว่า สามารถลดอาการปวด ลดภาวะทุพพลภาพ และเพิ่มคุณค่าชีวิตได้ดีกว่าเสื้อพยุงหลัง (lumbar support) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่สำคัญมีต้นทุนเพียง 100-150 บาทต่อใบ ตัดเย็บได้รวดเร็ว โดยผู้วิจัยได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์แก่บริษัทผลิตหมอนหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้แต่เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิต (โอทอป) ได้


หมอนรักษ์หลังยังเป็นผลงานที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้ผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ด้วยกิจกรรมนำเสนอแผนธุรกิจจับคู่ทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์สู่ธุรกิจและการลงทุนใน "โครงการส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน" Promoting I with I Espisode 2/2018 Thailand 4.0 โดยร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว). สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)


ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาสพัฒนาโครงการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ตอบรับนโยบายประเทศไทย 4.0.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ