‘หมอครอบครัว’ รองรับ ‘สังคมสูงอายุ’

          เกือบ 2,000,000 คน หรือประมาณ 1,785,942 คน เป็นตัวเลขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เผยไว้ว่าคือจำนวนในปัจจุบันของผู้ป่วยที่อยู่ตามบ้าน เรือน ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ 1. ผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จำนวนประมาณ 163,860 คน คิดเป็นร้อยละ 1.8 ของผู้สูงอายุที่มีราว 9 ล้านกว่าคน 2. ผู้พิการ จำนวนประมาณ 1,580,525 คน และ 3. ผู้ป่วยเรื้อรังติดเตียง จำนวนประมาณ 41,557 คน ซึ่งทางรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้…


'หมอครอบครัว' รองรับ 'สังคมสูงอายุ' thaihealth


          "ทีมหมอครอบครัว" นี้ มีภารกิจในการดูแลผู้ป่วยตามบ้านเรือน โดยเฉพาะในระดับบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น โดย รมว.สาธารณสุข ระบุไว้ว่า การดำเนินการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเริ่มมาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558 ใน 250 อำเภอ โดยมีทีมหมอครอบครัว 30,000 ทีม และระยะ 2 เริ่มเดือน เม.ย. 2558 เป็นต้นไป โดยจะขยายครอบคลุมทุกอำเภอ ซึ่งนี่ก็เป็นการ "รองรับสังคมผู้สูงอายุ" ด้วย


          ทั้งนี้ ขยายความเรื่องนี้ กับการดำเนินงาน "ทีมหมอครอบครัว" ของ โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี นี่ก็สะท้อนแง่มุมได้อย่างดี โดย นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ เปิดเผยไว้ โดยสังเขปคือ…จุดเริ่มต้น "ทีมหมอครอบครัว" ที่นี่ เกิดจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งหลังจากได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น และ ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลับเข้ารักษาใน โรงพยาบาลอีกวนอยู่อย่างนี้ โดยส่วนใหญ่เกิดจากแผลกดทับและภาวะโรคที่ลุกลาม ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากขาดการดูแลต่อเนื่อง คนในครอบครัวขาดความรู้ในการดูแลผู้ป่วย


          เพื่อจะแก้ปัญหานี้ ในเบื้องต้นที่นี่ได้ตั้ง ทีมเยี่ยมบ้าน ผู้ป่วยรายบุคคล ใช้กลไก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีอยู่แล้ว ก็ค่อย ๆ ขยายจำนวนผู้ป่วยที่ติดตามดูแล ซึ่งด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีมากและต้องดูแลต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่มีจำกัด จึงมีการคิดรูปแบบดึง อสม. และ จิตอาสา เข้ามามีส่วนร่วมบริบาลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งบางรายนอกจากการรักษาทางกายแล้ว ยังต้องได้รับการดูแลด้านจิตใจ และต้องมีการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย เช่น ทางขึ้น-ลงที่สะดวก ทางลาด ปรับส้วมให้เป็นแบบนั่ง รวมถึงอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น จึงมีการดึง ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น เข้ามีส่วนร่วมและสนับสนุน


          'ต้องบอกว่า จากจุดแข็งของสังคมไทยที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยเหล่านี้สามารถขยายครอบคลุมทั้งอำเภอ และนำมาสู่การจัดตั้งทีมหมอครอบครัวได้"…นพ.ประสิทธิ์ชัย ระบุ


          อีกทั้งยังบอกอีกว่า…"ทีมหมอครอบครัว" ซึ่งเป็นหนึ่งในการจัดระบบสุขภาพระดับอำเภอ ไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข แต่ประกอบด้วยผู้คนจากหลายส่วนช่วยกัน จึงทำให้ทีมมีความเข้มแข็ง และชุมชนท้องถิ่นต่างยินดีสนับสนุน เนื่องจากเป็นการดูแลญาติพี่น้องและคนในพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เป็นหัวหน้าที่คอยให้ความรู้ คำแนะนำ แก่ญาติพี่น้องผู้ป่วย จิตอาสา เพื่อให้เกิดการดูแลที่ถูกต้อง ขณะที่โรงพยาบาลแก่งคอยจะเน้นสนับสนุนวิชาการ นักกายภาพบำบัด พยาบาลวิชาชีพ ลงไปช่วยดูแลในรายที่ต้องใช้


          ทั้งนี้ โครงการ "ทีมหมอครอบครัว" ทำให้โรงพยาบาลแก่งคอยสามารถลดผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องกลับเข้ารักษา-ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระบุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วยก็ได้รับการดูแลครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น


          "การดำเนินงานทีมหมอครอบครัว เขตชนบทจะได้เปรียบ หลายพื้นที่ก็ได้วางรูปแบบและได้ดำเนินการไปก่อนแล้ว ประกอบกับประชากรในพื้นที่ไม่มาก เป้าหมายชัดเจน เข้าถึงได้ง่าย ต่างจากเขตอำเภอเมือง ชุมชนขนาดใหญ่ และโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่นอกจากประชากรมีจำนวนมากแล้ว ยังมีความหลากหลาย มีประชากรแฝง รวมถึงแรงงานต่างด้าว รูปแบบที่อยู่อาศัยก็หลากหลาย ประกอบกับเรื่องความไว้ใจ คนในกรุงเทพฯ ต้องระวังตัวมาก ก็ทำให้การเข้าถึงทำได้ยาก จึงต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป"…คุณหมอท่านเดิม กล่าว


          อย่างไรก็ตาม กับการผลักดันนโยบาย 'ทีมหมอครอบครัว" ในภาพรวมนั้น หลักใหญ่ใจความก็อยู่ที่การ "สร้างความเข้าใจ" ทำให้คนกลุ่มต่าง ๆ เห็นร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อที่จะทำงานเป็นทีมได้, การ "สำรวจเป้าหมายกลุ่มที่ต้องดูแลให้ชัดเจน" ซึ่งเบื้องต้นคือผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรังติดเตียง, การ "สร้างองค์ความรู้ที่จะใช้ดำเนินการ"โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดำเนินงานจากแต่ละพื้นที่ ซึ่งจากความแตกต่างของพื้นที่ ชุมชน สภาพสังคม การดำเนินงานของทีมหมอครอบครัวก็จะมีความยากง่ายแตกต่างกันไป


          'ถ้าทำตรงนี้สำเร็จในภาพรวมได้ การขยายเพิ่มเรื่องการดูแลสุขภาพอื่น ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่ต่างมีใจที่อยากทำงานนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว ถ้าได้ทีมสนับสนุนก็จะยิ่งทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงมากขึ้น"…นพ.ประสิทธิ์ชัย ระบุไว้


          "ทีมหมอครอบครัว" เรื่องนี้นับว่าน่าสนใจ ทำได้ดี – มีทุกพื้นที่ทั่วไทย…ย่อมจะดีแน่!!!


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code