หนุน ‘สุขบัญญัติ’ ให้เด็กไทยสุขภาพดี
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะนำวิธีปรับพฤติกรรมตามหลัก “สุขบัญญัติ” เพื่อให้เด็ก และเยาวชนไทยมีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
สบส.ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพเด็ก และเยาวชนไทยเมื่อ เดือนธันวาคม 2557 พบปัญหาเด็กไทยยังมีจุดอ่อนเรื่อง การออกกำลังกายและการกินขนมขบเคี้ยวที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูง เช่น มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ ข้าวโพดอบกรอบ เวเฟอร์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาทำให้เด็ก และเยาวชนไทยเป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง วอนบิดา มารดา ผู้ปกครอง รวมทั้งครูแนะนำวิธีปรับพฤติกรรมตามหลัก “สุขบัญญัติ” เพื่อให้เด็ก และเยาวชนไทยมีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากคำขวัญวันเด็กปี 2558 ที่ว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” กรม สบส. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ มีความตระหนักและห่วงใยถึงปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและดูแลสุขภาพของเด็ก เยาวชนไทย ที่ก่อให้เกิดแนวโน้มปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น อาทิ อัตราการเพิ่มขึ้นของเด็กที่เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนวัยเรียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และประชาชน กรม สบส. ได้กำหนดนโยบายสุขภาพขับเคลื่อน “สุขบัญญัติแห่งชาติ” เป็นนโยบายหลักในการดำเนินงานขับเคลื่อนให้เยาวชน และประชาชน ได้รับรู้ ตระหนัก และมีการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานตามสุขบัญญัติแห่งชาติอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นกลวิธีหนึ่งในการสร้างเสริมและปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี
โดยนายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐศิริพงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริมสุขบัญญัติเป็นกลวิธีหนึ่งในการสร้างเสริมและ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงให้เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ปลูกฝังแนวทางการปฏิบัติเพื่อพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสามารถนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของเยาวชน และประชาชน ตามสุขบัญญัติ 10 ประการ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการดูแลสุขภาพร่างกาย ประกอบด้วย 1.การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด 2.การรักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี 3.การล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย 4.การกินอาหารปรุงสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด 5.การงดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ 6.การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น 7.การป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท 8.การออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี 9.การทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ และ 10.มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสังคมดีด้วยกัน
และสำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับเอกสารได้ที่กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เบอร์โทรศัพท์ 0 2590 1668 หรือที่เว็บไซต์กองสุขศึกษา (http://www.hed.go.th)
ที่มา : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต