หนุน "สามเหลี่ยมเขยื้อน" สร้างไทยให้น่าอยู่
หนุน "สามเหลี่ยมเขยื้อนไทย" ชี้ อีก 10 ปี ไทยคือประเทศน่าอยู่ที่สุด
แฟ้มภาพ
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และที่ปรึกษาการจัดงานฯ กล่าวภายในงานเวทีจุดประกาย "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" ที่อิมแพค เมืองทองธานีว่า วันนี้เป็นวันฤกษ์ดีที่คนไทยมารวมตัวกัน เป็นวันประวัติศาสตร์เพื่อดึงประเทศไทยให้ออกจากวิกฤตการณ์ และไม่สามารถออกจากหลุมได้ ซึ่งหลุมดำวิกฤตประเทศไทยมี 6 ประการ 1.การเมือง 2.เศรษฐกิจ 3.สังคม 4.สิ่งแวดล้อม 5.ศีลธรรม และ 6.การพัฒนาคุณภาพคน เพราะฉะนั้นวิกฤตการณ์ทั้ง 6 อย่างนั้นเชื่อมโยงกันจนทำให้เกิดหลุมดำใหญ่และประเทศไทยไม่สามารถหลุดออกจากตรงนี้ ไม่มีรัฐบาลใดสามารถนำประเทศหลุดออกจากวิกฤตการณ์ตรงนี้ได้โดยลำพัง และเกิดสภาพคนเหมือนไก่ จิกตีกันจนเลือดตกยางออก
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า เราต้องมีหลักคิดในกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อพัฒนาประเทศ เพราะกระบวนทัศน์เก่าไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากเป็นกระบวนทัศน์เก่าทำจากบนลงล่างโดยยึดรูปแบบพระเจดีย์ โดยที่ผ่านมาอย่างเรื่องเศรษฐกิจก็จะทำตั้งแต่ด้านบน การศึกษา การเมือง โครงสร้างทั้งพระเจดีย์ ปิรามิด เพื่อฐานความมั่นคงแข็งแรงแล้วจะรองรับให้ด้านบนมั่นคงและรองรับประเทศได้ ตรงจุดนี้ถือว่าสำคัญ ซึ่งจากการประกาศของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นั้น เป็นกระบวนทัศน์ใหม่โดยการทำจากล่างขึ้นบน โดยเป็นการสร้างฐานรากความเข้มแข็งของประเทศโดยเปลี่ยนจากเดิม
ที่ผ่านมามีดำเนินการมาแล้วหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจกองทุนต่างๆ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หมออนามัย ที่มาร่วมงานในวันนี้หลายหมื่นคน มีการทำงานมานานแล้ว และเกิดผู้นำท้องถิ่นหลายแสนคน หลายร้อยตำบลเป็นตำบลสุขภาวะ ความดีเป็นเครดิตสามารถใช้กู้เงินได้ อย่างที่อำเภอพาน จ.เชียงราย มีธนาคารความดี สะสมความดี
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า อย่างที่ นายสมคิด ประกาศกระบวนทัศน์ใหม่นั้นที่ต่างไปจากเดิม และเมื่อรัฐบาลจะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานราก แล้วนำมาเชื่อมโยงกับประชาชนที่มีการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะทำงานในเรื่องนี้ทั้งกว่า 8 หมื่นหมู่บ้าน 8,000 ตำบล 77 จังหวัด สามารถทำได้อย่างเต็มที่ โดยมีกลไกต่างๆควบคุมดูแล ในการขับเคลื่อนชุมชนทุกระดับ เป็นการสร้างความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ทั้งประเทศ โดยจะไม่มีการแบ่งสีแบ่งพวก แต่เป็นการรวมตัวทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ
สำหรับหัวใจการสร้างเศรษฐกิจฐานราก คือการสร้างสัมมาชีพ กับสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เต็มพื้นที่ข้างล่าง โดยการทำสิ่งต่างๆ 9 ข้อ อาทิเช่น 1.เรื่องเกษตรยั่งยืน 2.ผลิตสิ่งสินค้าที่จำเป็นและสินค้าวัฒนธรรมของชุมชน 3.สร้างการท่องเที่ยวชุมชนทุกตำบล 4.พลังงานชุมชน 5.เรื่องธนาคารต้นไม้ 6.การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร 7.มีสถาบันการเงินระดับชุมชนทุกตำบล 8.โยงเศรษฐกิจชุมชนกับมหภาคให้เชื่อมโยงกัน นพ.ประเวศ ระบุด้วยว่า สำหรับสามเหลี่ยมเขยื่อนประเทศไทยทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน โดยมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่วิสาหกิจชุมชน โดยมีฐานรากเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง และเชื่อว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้าหรือปี 2568 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด
ที่มา: มติชนออนไลน์