หนุน “การปั่นจักรยาน” สู่วิถีชีวิต

           “ยงยุทธ” นำขบวนแรลลี่จักรยาน va ผลักดันปั่นจักรยานเป็นวิถีชีวิต ปั่นเที่ยว ทำงาน ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ขยายไปสู่ต่างจังหวัด ชูยุทธศาสตร์ 3 ส 1 สวน 1 เส้น 1 สนาม จับมือมหาดไทยทำแผนปฏิบัติการเกิดทางจักรยานในทุกจังหวัด

/data/content/26920/cms/e_agjqrstvwz46.jpg

             เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กทม. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โครงการพัฒนาเส้นทางจักรยานในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และแรลลี่จักรยาน พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำขบวนผู้บริหารหน่วยงาน ข้าราชการ ประชาชน สื่อมวลชน ร่วมปั่นจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นปฐมฤกษ์ ในการตรวจเส้นทางจักรยาน เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแรลลี่จักรยาน “ตามหายักษ์” และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ตอน “Unseen รัตนโกสินทร์” ด้วย

/data/content/26920/cms/e_befgjlqxy678.jpg

               ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังนำขบวนแรลลี่จักรยาน “ตามหายักษ์” ว่า กิจกรรมจักรยานแรลลี่ครั้งนี้เป็นการกระตุ้น จุดประกาย ให้พื้นที่อื่นๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด เกิดเส้นทางจักรยานที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย รวมถึงทำให้คนสนใจปั่นจักรยานในวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ทั้งการปั่นจักรยานไปโรงเรียน ปั่นไปทำงาน ปั่นท่องเที่ยว หรือปั่นออกกำลังกาย ซึ่งการปั่นจักรยาน ถือเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพ และยังเป็นการเปิดพื้นที่ในการพบปะสังสรรค์ ใช้เวลาร่วมกันกับเพื่อนๆ และครอบครัว ช่วยสร้างครอบครัวอบอุ่น และทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น

 

/data/content/26920/cms/e_bfimox234578.jpg

            ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ในโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี สนองนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานของรัฐบาล ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายจัดทำแผนการส่งเสริมการปฏิบัติในแต่ละจังหวัด โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ส 1 สวน 1 เส้น      1 สนาม คือ 1. สวน สาธารณะที่ให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน 2. เส้น ให้แต่ละจังหวัดกำหนด 1 เส้นทางที่สนองต่อผู้ใช้ประจำ 3. สนาม ที่มีอยู่แล้วในทุกจังหวัด อาทิ สนามกีฬา สนามบิน หรือสนามของหน่วยราชการ ให้จัดแบ่งให้เป็นเลนปั่นจักรยานเพื่อการออกกำลัง สำหรับโครงการนี้ สามารถเริ่มต้นได้ทันที ใช้งบประมาณน้อย ระดมการมีส่วนร่วมได้สูง สามารถเชื่อมต่องานเดิมที่มีอยู่แล้ว พร้อมกำหนดมาตรการอื่นๆ ที่เสริมศักยภาพ เพื่อให้เกิดการใช้จักรยานอย่างยั่งยืน อาทิ มีจุดจอดจักรยาน เส้นทางจักรยานท่องเที่ยว การให้บริการจักรยาน ให้ความรู้วินัยจราจรและการแบ่งปันถนน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกจังหวัดนำร่อง และมีการกำหนดเส้นทางที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นทางจักรยานในชีวิตประจำวันและจักรยานเพื่อสุขภาพ/นันทนาการ ของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ในจังหวัดต่างๆ ทั่วภูมิภาค

               สำหรับเส้นทางกิจกรรมแรลลี่จักรยานในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะปั่นจักรยานผ่าน 9 จุดสำคัญ คือ 1. เริ่มจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ 2. อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย 3. เสาชิงช้า 4. ท่าเตียน 5. สนามหลวง 6. โรงละครแห่งชาติ 7. ป้อมพระสุเมรุ 8. สวนสราญรมย์ และ 9. วัดพระเชตุพนฯ(วัดโพธิ์) โดยสิ้นสุดที่มิวเซียมสยาม ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้แสตมป์ครบเป็นคนแรก ในงานนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมราว 200 คน

 

 

               ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code