หนุน’ไซลาซีน’เป็นยาควบคุมพิเศษ
‘สัตวแพทย์ จุฬาฯ ‘หนุนยกระดับ ‘ไซลาซีน’ เป็นยาควบคุมพิเศษ ระบุเป็นการคุ้มครองประชาชน-น.สพ.เข้มการใช้ยากมากขึ้น
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 56 ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการแถลงข่าว เรื่อง “xylazine : ยารักษาสัตว์หรืออาชญากรรม” โดย ศ.น.สพ.ดร.มาริษศักร์ กัลล์ประวิทธ์ ผู้เชียวชาญด้านการวางยาสลบในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ไซลาซีนเป็นยาสงบประสาทในสัตว์ คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ เริ่มใช้มานานกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่ใช้เพื่อบังคับสัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็กที่ดุร้าย หรือในรายที่ต้องการรักษาแล้วไม่ยอม เพื่อให้สัตวแพทย์เข้าถึงตัว การบริหารยาอาจฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เข้ากล้ามเนื้อ และเข้าใต้ผิวหนัง แต่การฉีดเข้าใต้ผิวหนังให้ผลไม่แน่นอน
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ระงับปวดและทำให้สัตว์ซึมหรือหลับ และมีผลต่อการทำงานหลายระบบของร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์หย่อนกล้ามเนื้อ โดยขัดขวางการส่งพลังประสาทภายในประสาทส่วนกลาง การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำจะทำให้หัวใจเต้นช้าและความดันเลือดสูงในระยะ 5-10 นาทีแรกก่อนจะมีความดันเลือดต่ำ
“ส่วนตัวไม่เคยพบรายงานทางวิชาการว่ามีการนำไซลาซีนมาใช้กับคน ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้ในคนเป็นยาโคลลิดีน ซึ่งใช้เป็นยาลดความดันซึ่งไม่แน่ใจว่าปัจจุบันแพทย์ยังมีการสั่งใช้ยานี้หรือไม่เพราะเป็นยาที่เก่ามาก แต่ไม่มีการใช้ยาโคลลิดีนในแง่ของสงบประสาท ซึ่งหากยานี้ใช้ในคนได้ ก็น่าจะมีการพัฒนาโคลลิดินมาใช้เป็นยาสงบประสาทในคน โดยไซลาซีนและโคลลิดินมีโครงสร้างทางเคมีต่างกันเพียงนิดเดียว แต่เมื่อห้องปฏิบัติการรพ.รามาธิบดียืนยันว่า เป็นไซลาซีน บวกกับการให้การของผู้ต้องหาว่าเป็นไซลาซีน จึงน่าจะเป็นไซลาซีนที่นำมาใช้ก่อเหตุปลดทรัพย์ญาติและผู้ป่วยในโรงพยาบาลตามที่เป็นข่าว อย่าไรก็ตาม การใช้ยาชนิดนี้ในสัตว์ใช้ในรูปแบบฉีดเท่านั้น ไม่เคยใช้รูปแบบกิน แต่ยาที่ใช้ในสัตว์ส่วนใหญ่เป็นยาคน เพราะก่อนที่จะนำยามาใช้กับคนมีการทดลองในสัตว์มาก่อน” ศ.น.สพ.ดร.มาริษศักร์ กล่าว
ศ.น.สพ.ดร.มาริษศักร์ กล่าวต่อว่า ยาตัวนี้ไม่ใช่ยาสลบ เป็นยาสงบประสาทที่มีฤทธิ์ค่อนข้างรุนแรงกว่าตัวอื่น ถ้าใช้ปริมาณมากอาจทำให้หลับได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะการสงบประสาท จึงเป็นกึ่งสลบ ตามคลินิกใช้ยาตัวนี้ในการเย็บแผลและใส่เฝือกได้ แต่ไม่จัดเป็นการสลบแค่หลับลึกกว่าปกติ หาก อย.ยกระดับไซลาซีนเป็นยาควบคุมพิเศษ อาจจะทำให้สัตวแพทย์มีการใช้ยานี้ลำบากขึ้น และต้องเสียเวลาในการทำรายงานการใช้ทุกเดือน แต่ถือเป็นการดีที่มีการควบคุมเข้มขึ้นสัตวแพทย์จะได้มีการะวังการใช้มากขึ้น เนื่องจากการใช้ในสัตว์เองก็มีผลข้างเคียงที่ต้องระมัดระวัง
ภญ.พิสชา ลุศนันท์ หัวหน้ากลุ่มยาสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการสืบค้นการขึ้นทะเบียนของอย.ไม่มีการขึ้นทะเบียนการใช้ยานี้ในคน ใช้สำหรับสัตว์เท่านั้น ซึ่งยาในกลุ่มไซลาซีนมีการขึ้นทะเบียนกับ อย. 9 ตำรับ ในรูปแบบฉีด ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นยาอันตรายสามารถซื้อได้ในร้านขายยาที่มีเภสัชกร แต่ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการยาจะพิจารณาว่าจะยกระดับเป็นยาควบคุมพิเศษตามที่คณะอนุกรรมการควบคุมยาในสัตว์เห็นชอบก่อนหน้านี้หรือไม่
ทั้งนี้ จากการที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนยานี้สำหรับใช้ในคน จึงอาจเป็นไปได้ว่าไม่มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้กับคน แสดงว่าน่าจะมีการทำให้เกิดโทษจึงไม่มีการพัฒนาต่อมาใช้กับคน มีการพัฒนาให้ใช้เฉพาะในสัตว์เท่านั้น โดยการใช้ในสัตว์ทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น หัวใจเต้นชา หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะมาก และควาดดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก