หนุนใช้สมุนไพรรักษา “โรคสะเก็ดเงิน”

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


หนุนใช้สมุนไพรรักษา “โรคสะเก็ดเงิน”  thaihealth


แฟ้มภาพ


“กระทรวงสาธารณสุข” เผยใช้สมุนไพรรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ที่ รพ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ได้ผลดี ทำให้อาการโรคสงบลงใน 2 สัปดาห์ –1 ปี แพทย์ระบุมีสาเหตุจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งพันธุกรรมความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นภายนอก 


ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกคู่ขนานกับแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเพิ่มทางเลือกการรักษาแก่ประชาชน และส่งเสริมการวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย สร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและบุคลากรสาธารณสุข ในปี 2559 ตั้งเป้าหมายให้ผู้ป่วยนอกได้รับบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร้อยละ 18 ให้โรงพยาบาลศูนย์ทุกระดับ มีบริการคลินิกแพทย์แผนไทยคู่ขนานแผนกผู้ป่วยนอกร้อยละ 70 และในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้จัดบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแบบครบวงจร รักษาโรคทั่วไปและเฉพาะโรคเช่น อัมพฤกษ์อัมพาต ไมเกรน ข้อเข่าเสื่อม และภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนต้น อย่างน้อย 1 คลินิก ร้อยละ 80


ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ขณะนี้หลายโรงพยาบาลมีผลงานด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยที่เห็นผลเป็นรูปธรรมเช่น ที่โรงพยาบาลโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ได้รักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน 10 ราย ตั้งแต่ปี 2557–2558 โดยใช้ยาปรุงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย ทั้งยารับประทานและยาทาภายนอก ติดตามผลการรักษาสัปดาห์ละครั้ง ผลการรักษาพบว่าอาการของโรคสงบลงใน 2 สัปดาห์ – 1 ปี ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค บางรายผื่นสะเก็ดเงิน ผื่นแดงที่ผิวหนังลดลง อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วใน 2 สัปดาห์ ขณะที่บางรายใช้เวลาในการปรับยาค่อนข้างนาน อาการโรคสงบใน 1 ปี


ด้านแพทย์แผนไทยประยุกต์ ภัทรพล ภู่ศิริภิญโญ คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ รพ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย กล่าวว่า ในทางการแพทย์แผนไทยโรคสะเก็ดเงิน เทียบเคียงกับโรคเรื้อนมูลนกหรือเรื้อนกวาง เป็นโรคผิวหนังชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของเลือด ลม และน้ำเหลือง เกิดรอยโรคที่แสดงออกมาทางผิวหนัง ทำให้ผิวหนังพิการ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนการรักษาโรคสะเก็ดเงิน จะมีการตรวจประเมินอาการ ความรุนแรงของโรค และวิเคราะห์ธาตุและตรีธาตุของผู้ป่วย เพื่อเลือกใช้ยาสมุนไพรที่เหมาะสมปรุงเป็นยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย


พร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว โดยงดอาหารแสลงโรค ได้แก่ เนื้อสัตว์ใหญ่ สัตว์ปีก ปลาหมึก หอยแครง ปูม้าและกุ้ง ปลาไม่มีเกล็ด เช่น ปลาดุก ปลากระเบน ปลาไหล ปลาที่มีครีบแข็งเช่นปลาทับทิม ปลากระบอก ปลากะพง ปลาทู ปลาหมอ อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอนหลับให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด บริเวณที่ร้อนจัด เย็นจัด รักษาความสะอาดของร่างกายและที่นอน ผ้าห่ม หลีกเลี่ยงการแกะเการอยผื่นผิวหนัง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น ขึ้นอยู่กับอาการและอาการแสดงของโรค รวมถึงการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ


โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) มีสาเหตุจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งพันธุกรรมความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นภายนอก ทำให้มีการแบ่งตัวของเซลผิวหนังเร็วผิดปกติ พบประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร จึงคาดว่าไทยจะมีผู้ป่วยโรคนี้กว่า 1 ล้านคน ผู้ป่วยจะมีอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นๆหายๆ เกิดได้ทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือบริเวณที่มีการเสียดสี แกะเกา เช่น ศอก เข่า แขน ขา ก้นกบ คอ ศีรษะ ลักษณะเป็นปื้นหนา มีสะเก็ดสีขาวคล้ายเงิน ปิดอยู่บนผื่นผิวหนังที่อักเสบแดง เมื่อลอกขุยออกจะมีจุดเลือดออก ทำให้ผู้ป่วยอาย ขาดความเชื่อมั่น ไม่อยากเปิดเผยตัวเอง มีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่อจิตใจ และอาชีพหน้าที่การงานตามมา 

Shares:
QR Code :
QR Code