หนุนใช้กม.เข้ม-ตั้งองค์กรดูแลอุบัติเหตุบนถนน
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
หนุนใช้ กม.เข้ม-ตั้งองค์กรดูแลอุบัติเหตุบนถนน เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก ด้านวิกฤติบำบัดและอุบัติเหตุ และประธานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมรายงานผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนน ของกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า ปี 59 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 58 ประมาณ 3,000 ราย ซึ่งจากการวิเคราะห์ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถลดจำนวนผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลงได้มาจาก 2 ปัจจัยคือ 1. ระบบจัดการอุบัติเหตุความปลอดภัยทางถนน ยังไม่ได้ถูกจัดตั้งให้เป็นหน่วยงาน สถาบัน หรือองค์กร ที่รับผิดชอบ และขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวโดยตรง
น.พ.วิทยา กล่าวต่อว่า การจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และองค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า หากจะประสบความสำเร็จในปัญหาที่ยาก และใหญ่โต ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นกิจจะลักษณะ เพราะเป็นฐานรากบันไดขั้นที่ 1 ในการดำเนินการที่เป็นไปในแนวยุทธศาสตร์ได้ เพื่อจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้แม้ปัจจุบันไทยจะพยายามผลักดันให้มีหน่วยงานที่แก้ไขปัญหาเรื่องอุบัติเหตุทางถนนโดยตรง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สอจร. และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) เป็นต้น แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าหน่วยงานจะออกมาเป็นแบบใด และอยู่ภายใต้กระทรวงใด ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจโดยด่วน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
น.พ.วิทยา กล่าวด้วยว่า ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดเท่าที่ควร แม้กฎหมายประมาณ 70-80% จะเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่การใช้ยังไม่เต็มที่ตามมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายให้ประชาชนสวมหมวกกันน็อก ซึ่งมีกฎหมายใช้มาแล้ว 20 ปี แต่ปัจจุบันประชาชนใส่หมวกกันน็อกประมาณ 50% ขณะที่คนซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ (จยย.) ควรใส่ 100% แต่พบว่า คนซ้อนท้ายใส่หมวกกันน็อกแค่ 15% ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ขับขี่ และคนซ้อนท้ายรถ จยย. เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนจำนวนมาก หากมีการสวมหมวกกันน็อกตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ช่วยลดการเสียชีวิตจาก จยย. ได้ประมาณ 5,000 คนต่อปี
น.พ.วิทยา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด, การเมาแล้วขับ และการไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ยังห่างไกลจากการบังคับใช้ที่เข้มงวดตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการไม่มีใบอนุญาตฯ พบว่า คนขับขี่รถ จยย. มากกว่าครึ่งไม่มีใบอนุญาตฯ ทั้งที่เป็นเอกสารสำคัญที่รับรองว่าผู้ขับขี่ผ่านการอบรมที่มีมาตรฐาน และมีวุฒิภาวะในการขับขี่ดีพอ ช่วยทำให้อุบัติเหตุลดลงได้ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาเรื่องนี้รัฐบาลต้องสั่งการให้ สตช. รับผิดชอบ และติดตามอย่างจริงจัง อีกทั้งควรสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดหาอุปกรณ์ในการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องตรวจจับความเร็วรถ ต้องเพียงพอ พร้อมใช้งาน รวมทั้งต้องมีระบบจัดการกับผู้ที่ได้รับใบสั่งที่กระทำผิดแล้วต้องมาเสียค่าปรับ เป็นต้น
นพ.วิทยา กล่าวด้วยว่า คาดการณ์ว่าในปีนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนไม่น่าจะลดลง ผู้ที่ขับขี่รถ จยย. บนท้องถนนประมาณ 80% ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้การขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขการเกิดอุบัติบนท้องถนน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อผลักดัน ให้ภาคราชการเห็นความสำคัญ และออกมาตรการในการดำเนินการ รวมทั้งจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยทางถนน ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เห็นผลภายใน 1-2 ปีหลังจากจัดตั้งสถาบันฯ