หนุนเก็บออมเงิน ให้พอใช้หลังเกษียณ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ขณะนี้ปัญหาการออมเงินให้เพียงพอต่อการใช้ในวัยเกษียณ เป็นเรื่องที่ปัญหาระยะยาวของไทย ที่ต้องมีการวางแผนแก้ไขอย่างเป็นระบบ ซึ่งเมื่อดูข้อมูลเรื่องการออมเงิน พบว่าคนจำนวนมากยังมีเงินไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายหลังเกษียณ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 48 และในปี 76 จะเข้าสู่ระดับสุดยอดมีประชากรกว่า 28% ที่มีอายุเกิน 60 ปี ทั้งนี้ข้อมูลการเตรียมความพร้อมด้านการเงินและสุขภาพในสังคมอายุยืน ของสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า เงินออมสำหรับการดำรงชีวิตสำหรับผู้เกษียณอายุที่เหมาะสม หากอยู่ในสังคมเมืองต้องมีเงินออมไม่น้อยกว่า 4.3 ล้านบาท หากอยู่ในชนบทที่มีค่าครองชีพต่ำกว่า ควรมีเงินออมไม่น้อยกว่า 2.8 ล้านบาท
ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีครัวเรือนที่มีเงินออมเกิน 2.8 ล้านบาทเพียงแค่ 1.2 แสนครัวเรือน หรือคิดเป็น 0.5% ของครัวเรือนทั่วประเทศเท่านั้น สะท้อนว่าระดับการออมของครัวเรือนไทยยังไม่เพียงพอ หากดูในระบบบำนาญของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกอันดับของไทย ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำที่สุดของโลก หากดูทั้งในมิติของความเพียงพอของเงินออม
นายดนุชา กล่าวว่า รายได้หลังเกษียณที่เหมาะสม คือต้องมีรายได้ประมาณ 50-60% ของเงินเดือนสุดท้ายแต่ปัจจุบันมีคนไทยที่สามารถมีรายได้หลังเกษียณในระดับดังกล่าวน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่มีระบบบำนาญและมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการดูแล ขณะที่แรงงาน 37.9 ล้านคน ยังพอมีรายได้จากระบบบำนาญรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งรองรับ
โดยยังมีคนอีกประมาณ 14.5 ล้านคน ที่จะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยไม่มีระบบรองรับ และได้รับเพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างเดียว ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลยภาระในการให้สวัสดิการดูแลผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุยังมีแค่ประมาณ 9 แสนคน หากมีจำนวนผู้มีรายได้และเงินออมต่ำ ก็จะเป็นภาระของภาครัฐในระยะยาว แนวทางในการเพิ่มเงินออมให้กับประชาชนเพื่อรองรับการเกษียณอายุ เป็นเรื่องที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายเรื่อง เช่น เปลี่ยนจากการออมภาคสมัครใจ เป็นการออมในภาคบังคับ เป็นต้น