หนุนอารยสถาปัตย์ทั่วไทยสู่เวทีอาเซียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เมื่อเร็วๆนี้ ทูตอารยสถาปัตย์ และโครงการขับเคลื่อนพัฒนาอารยสถาปัตย์ไทยสู่เวทีโลก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และภาคีเครือข่าย ได้จัดเวทีเสวนาวาระชาติ หัวข้อ "อารยสถาปัตย์การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล" และ "เมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์สะดวก ปลอดภัย ทันสมัย ทั่วไทย" เวทีนี้มีผู้บริหารผู้นำองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนผู้นำเครือข่ายผู้พิการประเภทต่างๆเข้าร่วมเสวนากันอย่างคึกคัก
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ประธานเปิดงานเผยว่า ปีนี้ประเทศไทยได้รับมอบหมายจากองค์การการท่องเที่ยวโลก ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน "งานวันท่องเที่ยวโลก" หรือTourism for All การท่องเที่ยวเพื่อคนทุกคนด้วยเหตุนี้จึงต้องเร่งพัฒนาปัจจัยในการท่องเที่ยวต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและทุกคนเข้าถึงได้กันขนานใหญ่
"ปัจจุบันประเทศไทยมีการวางมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยวและบริการตามแนวทางของคู่มือหลักปฏิบัติ เช่น การสร้างทางลาด ราวจับในห้องน้ำ หรือการใช้อักษรเบรลล์ แต่มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่ผ่านมาตรฐานที่ว่านี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการปลุกกระแสอารยสถาปัตย์ให้เป็นที่แพร่หลาย ทางกระทรวงฯ จะมีการออกใบรับรองให้แก่ผู้ประกอบการ ที่ปรับปรุงสถานที่บริการนักท่องเที่ยวได้ตามมาตรฐานที่กำหนด" รมว.การท่องเที่ยวและกีฬากล่าว
สอดคล้องกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แสดงทรรศนะว่า สังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แนวทางอารยสถาปัตย์ จึงไม่ได้จำเป็นแค่เพียงกับคนพิการเท่านั้น ผู้สูงอายุที่กำลังจะกลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ของไทย ก็จะได้ใช้ประโยชน์จากการสร้างสิ่งเหล่านี้เช่นกัน และรัฐบาลจะพยายามผลักดันนโยบายนี้ให้ครบทุกจังหวัด เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม
สำหรับ สสส.ที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด ก็ประกาศเดินหน้าพร้อมสนับสนุน ดร.อุทัย เจริญวงศ์ ที่ปรึกษาด้านบริหารองค์กร สสส. ชี้ให้เห็นว่า อารยสถาปัตย์ช่วยทำให้กลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการต่างๆ ได้มากขึ้น โดยหลังจากการทำโครงการมา 2 ปี ผลสำเร็จค่อนข้างน่าพอใจ มีการปรับสภาพแวดล้อมสำเร็จในหลายพื้นที่ทั้งสถานที่ราชการและสถานที่ท่องเที่ยว ให้เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกสภาพร่างกาย ที่ปรึกษาด้านบริหารองค์กร สสส. ย้ำด้วยว่า พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อการรณรงค์ให้ผู้คนเห็นความสำคัญของอารยสถาปัตย์
ด้านผู้ดูแลพื้นที่เมืองหลวงอย่าง จุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม.กำหนดนโยบายตามวิสัยทัศน์ กรุงเทพฯ 2575 ที่จะก้าวขึ้นเป็นมหานครแห่งเอเชียซึ่งนั่นหมายรวมถึงการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งภายในและนอกอาคารตามหลัก Universal Design โดยเน้นสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการตั้งแต่บ้าน อาคาร ตลอดจนพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้
ด้านเมืองท่องเที่ยวชื่อเสียงระดับโลกอย่างจังหวัดกระบี่ ซึ่งตอบรับแนวคิดอารย สถาปัตย์เช่นกัน "พินิจบุญเลิศ" ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เผยว่ากระบี่ ได้ออกนโยบาย "Krabi Global City" เป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งเป็นโครงการผลักดันอารยสถาปัตย์หรือการออกแบบเพื่อคนทุกคน เพราะจังหวัดกระบี่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงทำให้การออกแบบต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายให้กระบี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมอีกด้วย
ปิดท้ายที่ กฤษนะ ละไล ผู้จัดการโครงการทูตอารยสถาปัตย์ และประธานคณะทำงานอารยสถาปัตย์ไทยสู่ประชาคมอาเซียน สะท้อนความเห็นว่าการสร้างเมืองอารยสถาปัตย์ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต้องอาศัยความร่วมมือและบูรณาการทำงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะช่วยทำให้คนทุกคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ทั้งคนแก่ชรา พิการ คนบาดเจ็บคนพักฟื้นสุขภาพ ก็จะสามารถเข้าถึงได้ และใช้ประโยชน์ได้
ผู้จัดการโครงการทูตอารยสถาปัตย์ บอกด้วยว่าการจัดงานในครั้งนี้เป็นการประกาศว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นต้นแบบของการออกแบบเพื่อทุกคน รวมทั้งเป็นการบ่มเพาะผู้นำเยาวชน และตัวแทนคนพิการจากโครงการทูตอารยสถาปัตย์ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ให้ออกมามีบทบาทในการผลักดันประเทศไทย สู่เป้าหมายเมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งอาเซียนภายใน 5 ปี