หนุนสื่อเด็กสร้างสรรค์ จี้เข้มงวดโลกออนไลน์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาของเยาวชน ได้แก่ นักเรียนนักเลงตีกัน เด็กพากันเข้าโรงแรมม่านรูด หรือปัญหายาเสพติด ส่วนหนึ่งมาจากผลพวงจากสื่อที่ไม่ได้รับการควบคุม
ล่าสุดมีการเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสื่อของเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือนมิถุนายน โดยเครือข่ายเยาวชนเท่าทันสื่อ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สื่อสร้างสรรค์สุขภาวะเยาวชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
แม้จะไม่มีข้อมูลใหม่ให้ต้องตกอกตกใจ แต่ก็มีความชัดเจนในแนวโน้มบางอย่างที่หลายคนแอบกังวลไว้ล่วงหน้า และตอกย้ำข้อเท็จจริงอีกหลายอย่างเกี่ยวกับการเสพสื่อของคนรุ่นใหม่
ประการแรก ผลการสำรวจชิ้นนี้พบว่าเด็กและเยาวชนนิยมใช้สื่อออนไลน์มากถึง 45.5 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ดูโทรทัศน์ 36 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สื่อวิทยุและหนังสือพิมพ์ มีความนิยมเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ และ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
ยิ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนรุ่นใหม่ที่มีการสำรวจกันหลายต่อหลายครั้ง และครั้งนี้ก็ได้ผลไม่ต่างกัน คือ เยาวชนส่วนใหญ่ใช้สื่อออนไลน์เพื่อเสพความบันเทิงมากกว่าอย่างอื่น คือ 53 เปอร์เซ็นต์
รองลงมาคือ เพื่อค้นหาสาระความรู้ 47 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังยอมรับว่าปัญหาจากการบริโภคสื่อส่วนใหญ่คือ การเล่นเกม เล่นเฟซบุ๊ก จนเสียการเรียน 66 เปอร์เซ็นต์ สายตาสั้น 18 เปอร์เซ็นต์ และถูกหลอกลวง 15 เปอร์เซ็นต์
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อครั้งที่โลกออนไลน์เริ่มแสดงอิทธิพลของมันต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้คน มีการประเมินกันว่าสื่อใหม่เหล่านี้จะกลายเป็นดาบสองคม
ประการแรกคือ การกระจายข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลไปอย่างกว้างขวาง เปิดโอกาสให้คนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งยากดี มีจน สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้อย่างที่เรียกว่าเกือบจะไร้พรมแดน ซึ่งอาจจะช่วยลดช่องว่างทางความรู้ของคนในสังคมได้
ขณะที่อีกด้านคือ การไหลบ่าของ “ขยะ” ข่าวสาร ที่ปราศจากตัวกรอง ซึ่งจะพุ่งตรงไปถึงทุกบ้านเรือน ทุกชุมชน ทุกหนทุกแห่ง และมันอาจกลายเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีในการหาประโยชน์จากความไม่รู้ หรือความเชื่อที่ผิดๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน
ทว่าเมื่อถึงวันที่สังคมเคลื่อนมาถึงจุดที่โลกแห่งความเป็นจริงกับโลกออนไลน์แทบแยกกันไม่ออกกลับส่งผลร้ายมากกว่า อาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต ข่าวลือ ข่าวปล่อย ค่านิยมผิดๆ การล่อลวงต่างๆ นับวันจะยิ่งซับซ้อนและส่งผลกระทบในวงกว้าง ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเข้าถึงสื่อใหม่ๆ กลับไม่ได้ช่วยติดอาวุธทางปัญญาให้กับคนในสังคมอย่างที่ควรจะเป็น
เหตุผลหนึ่งก็คงเป็นอย่างที่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดได้ระบุไว้ นั่นคือ สื่อออนไลน์มีไว้เสพความบันเทิง มิใช่ข่าวสารความรู้ที่เป็นประโยชน์ และหากไม่มีการแก้ไข ผลตามมาคือความก้าวร้าว เพราะสื่อมักจะแสดงให้เห็นความรุนแรง ความอาฆาตพยาบาท การแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้สันติวิธี อาจมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวเองได้
เด็กจะเกิดความกังวล สงสัย กลัว นอนไม่หลับ ฝันร้ายหรือซึมเศร้า และมีแนวโน้มแสดงความรุนแรงเพิ่มขึ้น เป็นไปตามข้อมูลจากสถิติในสหรัฐอเมริกายังพบว่าร้อยละ 86 ของอาชญากรทางเพศมีการเสพสื่อลามก (หนังโป๊/หนังสือโป๊) เป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้น จากการศึกษาประวัติของอาชญากรข่มขืนต่อเนื่อง ยังพบว่าเกือบทั้งหมดมีประวัติการเสพสื่อลามกมาตั้งแต่เล็กด้วย
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยเสี่ยงโชค โดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์ที่มีรางวัลมากมาย และการโฆษณาที่มีของแถมต่างๆ อาจโน้มน้าวใจเด็กให้ชอบความเสี่ยงโชค นำไปสู่การพนันที่คิดว่าได้เงินมาโดยง่าย
ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เด็กที่ใช้เวลากับสื่อ โดยเฉพาะบนโลกอินเทอร์เน็ตมากจนไม่ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถเล่น โต้ตอบ หรือทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
พฤติกรรมทางเพศ เนื้อหาของสื่อต่างๆ ในปัจจุบันมีการแสดงออกของพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น นอกจากนี้ การรับสื่อที่ยั่วยุทางเพศบ่อยๆ ยังจะส่งผลให้วัยรุ่นพัฒนาความเชื่อและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมผิดๆ เกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศ เช่น เชื่อว่าเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมหมกมุ่น หรือเชื่อเกินความเป็นจริงเกี่ยวกับอัตราความถี่ของการมีเซ็กซ์ของคนในสังคม ตลอดจนความเชื่อว่าเซ็กซ์ไม่มีความสัมพันธ์ต่อสถานภาพการแต่งงาน ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาในสังคมไทยปัจจุบัน
นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะมีมาตรการควบคุมสื่อ โดยเฉพาะประเภทออนไลน์ พร้อมสนับสนุนให้มุ่งนำเสนอเนื้อหาในทางสร้างสรรค์สังคม และทำอย่างไรให้เยาวชนหันมาสนใจเสพสื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น