หนุนวิถีจักรยาน เติมเต็มเมืองสุขภาวะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
กระแสของจักรยานกลายเป็นสิ่งที่หลายคนเห็นว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพของคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการหวังเห็นคนไทยมีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย และได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น
ล่าสุดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการสร้างสุขภาพ ด้วยการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน ผู้บริหารท้องถิ่นและหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอและประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานเปิดโครงการสัมมนา เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการสั่งการให้สำรวจพื้นที่ และวางแผนในทุกจังหวัด เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตามยุทธศาสตร์ 3 ส. ได้แก่ สวน เส้นทาง และสนาม โดยที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการทำงานร่วมกับ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเมืองปั่นได้เมืองปั่นดี เพื่อทำให้การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุด
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งถึงวันละ 13 ชั่วโมง ซึ่งการขาดกิจกรรมทางกายเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิต ซึ่งการขับเคลื่อนในส่วนของ สสส.จะมียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การกระตุ้นให้คนตระหนักถึง ความสำคัญและอยากออกกำลังกาย 2.สร้างสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย และ 3.การลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ส่งเสริมให้มีการเดินหรือขี่จักรยานกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนคนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ขณะที่การรณรงค์ภาคประชาสังคม สสส. จะเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจต่างๆ ผ่านการสนับสนุนภาคีเครือข่ายจักรยานชุมชนและการรณรงค์ทั้งประเทศ เพราะการแค่ไปบอกให้ออกมาขี่จักรยานกันเยอะๆ อย่างเดียวคงไม่พอ แต่จะต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ โดยเฉพาะการได้สุขภาพที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ซึ่งการทำงานต้องอาศัยการประสานงานจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการสอดคล้องกันทั้งนโยบายและองค์ความรู้ทางวิชาการ
ทางด้าน ผศ.ดร.เกษม นครเขตต์ ผอ.ศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ สสส. กล่าวเสริมว่า การนำหลักคิดเรื่องการแบ่งปันเส้นทาง มาประยุกต์ใช้ในการเดินทางสัญจรร่วมกันบนถนนในพื้นที่เขตเมือง สร้างการยอมรับและการแบ่งปันเส้นทางในฐานะจักรยานคือพาหนะชนิดหนึ่งที่มีสิทธิใช้ถนน อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่อาจต้องใช้การออกแบบ โดยตีเส้นทางจักรยานแยกออกจากทางรถยนต์ นอกจากนี้ควรจำกัดความเร็วรถยนต์ในเขตชุมชนไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการสร้างพื้นที่สีเขียวตลอดเส้นทาง ก็จะช่วยทำให้เส้นทางจักรยานมีความปลอดภัยน่าใช้มากขึ้น เชื่อว่าวิถีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจะช่วยเติมเต็มการพัฒนาเมืองสุขภาวะอย่างยั่งยืน ลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญผู้คนมีสุขภาพดีห่างไกลโรค