หนุนคนไทยสร้างเเหล่งอาหารปลอดภัย สู้ภัยโควิด-19

ที่มา : ไทยโพสต์


ภาพประกอบจาก สสส.


หนุนคนไทยสร้างเเหล่งอาหารปลอดภัย สู้ภัยโควิด-19 thaihealth


พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่มีตามชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดภาคใต้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนเกษตรปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก พื้นที่ที่เหลือยังขุดบ่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ แต่ละแปลงผักมีคนในชุมชนที่ตกงานจากโควิด คนที่รับจ้างรายวัน หรือคนว่างงานกลับบ้านเกิด ได้รับการฝึกฝนทักษะทำเกษตรเป็นกำลังสำคัญสร้างสวนผักแห่งใหม่ในชุมชน


ผลผลิตงอกเงยบรรเทาความเดือดร้อนคนในชุมชนเกิดขึ้นจากโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) ดำเนินการขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤตโควิดระบาดระลอกล่าสุด


สำหรับโครงการส่งเสริมเกษตรในเมืองสร้างแหล่งอาหารของชุมชน สสส.สานพลังเครือข่ายสวนผักคนเมือง ปัจจุบันนำร่องในพื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 6 จังหวัด 30 ชุมชน ประกอบด้วย จ.กรุงเทพฯ 19 ชุมชน จ.ปทุมธานี 3 ชุมชน จ.สมุทรปราการ 3 ชุมชน จ.สมุทรสาคร 2 ชุมชน จ.ชลบุรี 2 ชุมชน และจ.นนทบุรี 1 ชุมชน


ขณะที่โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ นำร่องใน 5 จังหวัด 15 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา 3 พื้นที่ ปัตตานี 3 พื้นที่ ยะลา 3 พื้นที่ นราธิวาส 3 พื้นที่ และสตูล 3 พื้นที่ มีปลูกผัก ฟาร์มไก่ไข่ เลี้ยงปลา ทุกพื้นที่ส่งทีมพี่เลี้ยงช่วยออกแบบแปลง แนะนำวิธีปรับพื้นที่ และเข้าไปสอนให้ชุมชนมีทักษะการทำเกษตรพึ่งพาตัวเอง ลงมือเพาะปลูกทำฟาร์มใหม่


หนุนคนไทยสร้างเเหล่งอาหารปลอดภัย สู้ภัยโควิด-19 thaihealth 


เข็มเพชร เลนะพันธ์ รักษาการผู้ช่วย ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับชุมชนเมืองและสุขภาวะของประชาชน เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก คนถูกเลิกจ้าง ว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่รับจ้างรายวัน ทำงานโรงงาน และผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินสำรอง มีหนี้นอกระบบ กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน การสร้างความมั่นคงด้านอาหารถือเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตสุขภาวะให้กับชุมชนเมืองจึงเริ่มชุดโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตดังกล่าวฯ


"สวนผักในเมืองจะสร้างแหล่งผลิตอาหารด้วยตัวเอง เพื่อลดรายจ่ายรายวัน มีพืชผักปลอดสารเคมีไว้รับประทานสร้างภูมิเป็นเกราะป้องกันโรค สวนเหล่านี้ทำเกษตรปลอดภัย ทั้งยังเหมาะกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ ขณะนี้มีคนในชุมชนร่วมเป็นแกนนำในโครงการฯ แล้ว 495 คน ปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขยายให้ถึง 1,000 คน เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารสู่ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนเมืองทั่วประเทศ" เข็มเพชร กล่าว


พื้นที่สีเขียวกินได้กระจายทั่วประเทศ เป็นหัวใจสำคัญการหนุนเสริมของ สสส. ในส่วนภาคใต้ที่เผชิญโควิดสาหัสไม่แพ้กัน พบจังหวัดติดอันดับถึง 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี และยะลา รวมผู้ป่วยสะสมกว่า 1 หมื่นคน เข็มเพชร กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า มีคนว่างงานจำนวนมาก ทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม โดยเฉพาะในกลุ่มรับจ้างรายวันที่ถูกเลิกจ้างจากประเทศมาเลเซีย ทั้งทำงานโรงแรม โรงงาน ร้านค้า ที่ไม่มีเงินสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน การช่วยเหลือ สสส.มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนลดภาระค่าใช้จ่าย บรรเทาผลกระทบโควิดระลอกสาม


"นำร่อง 5 จังหวัด 15 พื้นที่ มีทีมคนสร้างสุขภาคใต้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงสอนให้ชุมชนมีทักษะการทำเกษตร สร้างแหล่งผลิตอาหารด้วยตัวเองเพื่อลดรายจ่ายรายวัน รวมถึงสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ขณะนี้มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำในโครงการฯ แล้ว กว่า 300 คน ภายในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขยายพื้นที่เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้" เข็มเพชร ให้ข้อมูล


เสียงจากพื้นที่ สุวิทย์ หมาดอะดำ ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ สสส. บอกว่า ชุมชนภาคใต้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่หลากหลายเป็นทุนเดิม เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ ทำให้คนในชุมชนเชี่ยวชาญด้านการเกษตรที่หลากหลาย โครงการฯ ของ สสส. กระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ จัดหาพื้นที่โล่งกว้างที่เหมาะสมใช้เป็นแหล่งผลิตอาหาร อบรมและให้ความรู้ทำเกษตรปลอดสารพิษสามารถสร้างเป็นอาชีพและรายได้ในระยะยาว รวมถึงอบรมแกนนำทำหน้าที่ดูแลพัฒนาแหล่งอาหารชุมชนสู่พื้นที่ต้นแบบศึกษาดูงานความมั่นคงด้านอาหารระดับจังหวัดต่อไป


ขณะนี้บางชุมชนปรับพื้นที่โรงเรียนให้กลายเป็นแหล่งอาหารของชุมชน เช่น ชุมชนในเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ 8 ชุมชน ปรับพื้นที่สถาบันปอเนาะอัรฉาดียะฮ์ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เนื้อที่กว่า 10 ไร่ เป็นแปลงผักเกษตรปลอดสารเคมี ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมจัดสร้างครัวกลางผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับบริโภคในชุมชน โดยให้เด็กนักเรียน 30 คน ทำหน้าที่บริหารจัดการ อีกภาพความสำเร็จที่ชุมชนบ้านสันติ ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส กว่า 30 ครัวเรือน ร่วมปลูกผักปลอดสารเคมี เลี้ยงปลาจนเกิดเป็นโมเดล "เกษตรสันติ พึ่งพาตนเอง" ยกระดับเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานสำหรับชุมชนรอบข้าง ทุกพื้นที่ทำจริง ช่วยให้อยู่รอดในทุกวิกฤต ติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สร้างสุขภาคใต้   กันได้

Shares:
QR Code :
QR Code