“หนังแข็ง” โรคที่พบยากแต่ทุกข์ทรมาน
ตะลึง!! สาวใหญ่เมืองอุตรดิตถ์ป่วยเป็นโรคประหลาด ผิวหนังแข็งติดกระดูก ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทำให้ผู้คนทั้งประเทศต่างหวาดผวา เพราะเป็นโรคที่ฟังดูแล้วไม่คุ้นหู แถมชื่อโรคยังดูน่ากลัวอีกด้วย… ภายหลังจากการตรวจอย่างละเอียดของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าหญิงรายนี้ป่วยเป็นโรคหนังแข็ง หรือ Scleroderma ล่าสุด!!! หลังจากเป็นข่าวขึ้นมาใหญ่โตจึงได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยขึ้น ต่อมาทำให้แพทย์ถึงกับอึ้งหลังพบยอดผู้ป่วยสูงถึง 30 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ 16 ราย ที่เหลือเป็นผู้ป่วยจาก จ.สุโขทัย และ จ.แพร่
โดย นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ออกมาบอกว่า โรคหนังแข็งเป็นโรคที่พบไม่บ่อยแต่มีอาการเรื้อรัง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งมีโอกาสเป็นเพียง 1,000 ต่อ 67 ล้านคนเท่านั้น พบมากในวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 30 – 40 ปี จากสถิติที่พบในประเทศตะวันตกประมาณ 1 – 2 ราย ต่อ 10,000 ประชากรในชุมชน สำหรับสถิติของสถาบันโรคผิวหนังพบประมาณ ร้อยละ 0.2 ของผู้ป่วยโรคผิวหนังทั้งหมดที่เข้ารับการรักษา พบเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 1 : 4
แล้วโรคนี้ มันคืออะไรกันแน่ !!!!!
หลายคนคงยังไม่รู้จัก หรือคุ้นเคยกับโรคหนังแข็ง ซึ่งจริงๆ แล้วโรคหนังแข็งหรือโรคผิวหนังแข็ง (Systemic scleroderma) เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่ใช่โรคติดต่อ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัด ลักษณะของโรคคือเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่ทำให้เกิดอัตราความพิการสูง ผู้ป่วยจะมีการสะสมของพังผืดเส้นใยคอลลาเจนมากผิดปกติ ที่บริเวณหนังแท้และผนังหลอดเลือด ทำให้อวัยวะภายในร่างกายเกิดการแข็งตัวและหนา ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น อาการผิวหนังแข็งตึง ปลายนิ้วเขียวคล้ำเวลาสัมผัสความเย็น ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น ลำไส้หด พังผืดเพิ่มขึ้นในปอด ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อย
ซึ่งอาจแบ่งได้ 3 ระยะ คือ ระยะการอักเสบ บุคคลทั่วไปสามารถสังเกต และรับรู้ได้ คือปวดตามข้อ ผิวหนังตึง และบวม ระยะที่ 2 ผิวหนังเริ่มแข็ง หากถูกความเย็นจะซีดและกลายเป็นสีดำ ระยะที่ 3 ถือว่ารุนแรง ปรากฏผิวหนังแข็ง และมีสีดำไปทั่วทั้งตัว ตกสะเก็ด หนังหุ้มกระดูก และกระทบต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย หากคนไข้อยู่ในระยะที่ 1 – 2 สามารถรักษาได้ทันท่วงทีจะทำให้ดีขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้
โรคผิวหนังแข็งเป็นโรคที่หายเองได้ และบางรายผิวหนังจะหายเป็นปกติ โดยเฉพาะรายที่มีการดำเนินโรคช้า ผิวที่แข็งตึงจะเริ่มอ่อนตัว และหายเป็นปกติ จุดประขาวจะจางลง แต่บางรายอาจเห็นร่องรอยของโรคผิวแข็งตกค้างให้สังเกตเห็นได้อยู่บริเวณนิ้วมือ และใบหน้า
แล้วอะไรล่ะ!!! ที่จะบ่งบอกว่าคุณเสี่ยงเป็นโรคนี้ !!!
อาการของโรคนี้นั้น จะมีทั้งอาการที่บ่งบอกจากภายนอก ผู้ที่เป็นโรคนี้ผิวหนังจะเริ่มสีดำ กำมือไม่ได้ มือจะขาวหรือซีด ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดหดตัว ต่อมาจะมีสีม่วงหรือคล้ำ เนื่องจากผิวหนังขาดออกซิเจน หลังจากนั้นผิวหนังจะมีสีแดง เพราะเลือดจะไหลไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น ผิวหนังจะเกิดอาการเหล่านี้เมื่อสัมผัสอากาศหรือน้ำเย็น ต่อมาจะลามมาที่แขน หน้าและลำตัว หน้าผากย่น ยิ้มยาก ตามตัวพบด่างขาวเป็นจุด ถ้าเป็นมากจะกลืนลำบาก
ส่วนที่บ่งบอกจากภายในนั้น เริ่มจาก หลอดอาหาร พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 80 มีอาการทางหลอดอาหาร จะมีอาการกลืนลำบาก เจ็บเวลากลืน เนื่องจากการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารน้อย หรือมีกรดไหลย้อน หรือหลอดอาหารอักเสบ หัวใจถูกบีบรัด ถ้าเกิดที่ลำไส้จะพบว่า ระบบการทำงานของลำไส้ผิดปกติ มีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว เจ็บจุกยอดอก หลังรับประทานอาหารจะเรอมากผิดปกติ
พังผืดที่ปอด พบได้บ่อยรองจากทางเดินอาหาร โดยพบได้ตั้งแต่ร้อยละ 40 – 90 ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ความดันหลอดเลือดในปอดเพิ่ม ทำให้เกิดหัวใจห้องขวาวาย
หัวใจและหลอดเลือด มักจะไม่ค่อยมีอาการ จากการตรวจศพพบว่า อัตราการเกิดโรคที่หัวใจพบได้ร้อยละ 30 – 80 หากมีอาการทางหัวใจพบว่า จะมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 70 ใน 5 ปี
ไต พบได้ร้อยละ 10 – 40 ของผู้ป่วย และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูง อาการของโรคไตมีสองชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง ตามัวลง และชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจทำให้เกิดไตวายได้ในที่สุด
กล้ามเนื้อและข้อ พบว่า ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ และมีการอักเสบของข้อและมีหินปูนเกาะที่เอ็น
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคหนังแข็งนี้จะมีอาการทั้งหมดอย่างที่กล่าวมา แต่จะออกอาการแตกต่างกัน ขึ้นกับความรุนแรง และที่สำคัญหากเป็นไม่มาก อาการจะไม่ปรากฏให้เห็นเลย ซึ่งผู้ป่วยเองก็ต้องคอยสังเกตว่าอาการของตนเองเข้าข่ายอาการของโรคนี้หรือไม่ หากเข้าข่ายควรรีบพบแพทย์ทันที
ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวนี้ มักขาดความมั่นใจ กลัวสังคมรังเกียจ เนื่องจากผิวหนังที่แข็งตึง สีคล้ำ ผู้ป่วยมักจะเก็บตัวและไม่รับการรักษาอย่างถูกวิธี ยิ่งเป็นชนบทห่างไกล มักนึกคิดเป็นเรื่องทางไสยศาสตร์ ทำให้อาการทรุดหนักและเสียชีวิตในที่สุด
โรคหนังแข็งถึงแม้ว่าจะยังไม่มีตัวยาที่รักษาแบบเฉพาะเจาะจง แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้ที่ป่วยทุกรายจะรักษาไม่หายหรือเสียชีวิต หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
การรักษานั้น ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลปฏิบัติอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง การรักษาในปัจจุบันเน้นการรักษาตามอาการเป็นหลัก เช่น ให้ยาที่มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการสร้างและสะสมตัวของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในอวัยวะต่างๆ ให้ยาขยายหลอดเลือดเพื่อลดอาการปลายนิ้วซีดเขียวและลดอาการปวด ในกรณีทีมีอาการกลืนลำบาก ปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ ให้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร หรือยาที่ช่วยการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร ผู้ป่วยบางรายสามารถหยุดพักการรักษาได้เมื่อโรคสงบลง เนื่องจากอาการรุนแรงไม่เท่ากันในแต่ละราย ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็งแต่ละคนจึงได้รับการรักษาไม่เหมือนกัน การรักษามุ่งเน้นเพื่อจะลดหรือบรรเทาอาการต่างๆ ลง ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
หลังจากที่เข้ารับการรักษาตัวแล้ว ตัวผู้ป่วยเองก็ต้องดูแลตนเองด้วยเช่นกัน โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสความเย็น อากาศเย็น การสูบบุหรี่ เพราะปัจจัยเหล่านี้ ทำให้หลอดเลือดบริเวณปลายนิ้วหดตัวมากขึ้น อาการของโรค เช่น ปลายนิ้วมือซีด เขียว ปวด จะกำเริบมากขึ้น ผู้ป่วยควรทำกายภาพบำบัดนิ้วมือเพื่อป้องกันการติดยึดและข้อผิดรูปของนิ้วมือ หลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือการทำงานที่จะก่อให้แผลบริเวณปลายนิ้ว
และที่สำคัญ อย่าซื้อยารับประทานเอง ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น กลืนลำบาก หายใจลำบากอึดอัด ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน…
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคระบาดและพบได้ยาก แต่เราก็ไม่ควรที่จะมองข้าม เพราะปัจจุบันมีโรคต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งโรคเก่า โรคใหม่ ทางที่ดีเราควรที่จะดูแลสุขภาพของเรา ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะไปต่อสู้กับเหล่าบรรดาโรคร้ายที่คอยจ้องบั่นทอนชีวิตเราอยู่ทุกเวลา…
เรื่องโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.or.th
Update:26-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
– เตือนโรคร้ายผิวหนังแข็งภัยใกล้ตัวหญิงทำงานวัย
|