หนังสือ What makes us Human? ปลุกชุมชนหยุดยั้งโรค พัฒนาสุขภาวะ
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
แฟ้มภาพ
หนังสือสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของคน เช่นเดียวกับหนังสือ "What makes us Human?" เขียนโดย นพ.ฌอง-หลุยส์ลองโบเรย์ ซึ่งได้รับความนิยม มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 5 ภาษา เผยแพร่ไปยังชุมชนต่างๆ มากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก
ล่าสุด สำนักพิมพ์ SOOK Publishing สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หยิบมาแปลเป็นภาษาไทยให้อ่านกัน เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่น ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงศักยภาพของตัวเอง และสนับสนุนกันเพื่อแก้ปัญหาสุขภาวะอย่างยั่งยืน
ในงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ What makes us Human? "สิ่งใดเล่าทำให้เราเป็นมนุษย์" ที่ห้องสร้างปัญญา ชั้น 2 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. นพ.ฌอง-หลุยส์ลองโบเรย์ ผู้เขียนหนังสือ What makes us Human? อดีตผู้เชี่ยวชาญประจำองค์กร UNAIDS ผู้ร่วมก่อตั้ง Constellation มาร่วมบอกเล่าแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมผ่านงานเขียนชิ้นนี้อย่างน่าสนใจ
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคอุบัติใหม่ ปัญหาสุขภาพจิตจากสภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน นำ "กระบวนทรรศน์ใหม่ในการพัฒนา" ซึ่งบูรณาการความเป็นมนุษย์ เคารพศักดิ์ศรี ศักยภาพของตนเองและผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน ร่วมคิด ร่วมทำ เกิดพลังแห่งการเรียนรู้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในหลายมิติ ก้าวข้ามการแบ่งแยก เกิดความรักกัน ไว้ใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ร่วมแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง
เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมดุล เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย อเมริกาใต้ และแอฟริกา ที่แม้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เคารพในศักดิ์ศรีและศักยภาพของกันและกัน ร่วมคิดและลงมือแก้ปัญหาต่างๆ โดยนำความรู้และหลักการ SALT ของ Constellation ผู้วางรากฐานการทำงานที่สร้างความตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
ผู้เขียน นพ.ฌอง-หลุยส์ลองโบเรย์ กล่าวว่า เมื่อ 25 ปีก่อนได้ทำงานควบคุมโรคเอดส์ที่ จ.พะเยา ประเทศไทย รวมถึงได้ร่วมก่อตั้งองค์กร Constellation ประเทศเบลเยียม เพื่อกระตุ้นการแก้ปัญหาเอดส์ที่เกิดทั่วโลก ตนนำบทเรียนที่ไทยส่งต่อในพื้นที่อื่นที่มีการระบาดของโรคเอดส์ อยากถ่ายทอดจึงเขียนเล่าเรื่องในหนังสือเล่มนี้ เพราะย้อนกลับไปปี 2535 พบอัตราคนหนุ่มติดเชื้อโรคเอดส์ทางภาคเหนือของไทย 20% ปัจจุบันนี้เกือบเป็นศูนย์ เมื่อถอดบทเรียนและวิเคราะห์เกิดจากคนในชุมชนกล้าพูดอย่างเปิดเผย และช่วยกันคิดว่า จะทำสิ่งใดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
คีย์เวิร์ดชุมชนต้องสร้างความเป็นเจ้าของ บริการสุขภาพที่รัฐจัดให้จะเกิดประสิทธิภาพหากชุมชนมีส่วนร่วม อยากให้บทเรียนจากพะเยาไปสู่ชุมชนทั่วโลก เช่น ที่เคนยาประยุกต์ใช้กับโรคอื่นๆ อย่าง มาลาเรีย เบาหวาน หรือเรื่องความรุนแรงในครอบครัวก็ใช้ได้ ทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เกิดความสุขในชุมชน ใช้กระบวนการนี้ทำมาแล้ว 60 ประเทศ โดยไม่แบ่งแยกประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศด้อยพัฒนา
"หัวใจของสิ่งที่ตนเรียนรู้คือในการแก้ปัญหาเราสามารถเลือกมุมมองได้ หากมองในมุมปัญหาๆ จะหมดพลัง แต่ถ้าใช้มุมมองความเป็นมนุษย์จะเห็นพลังของคนการสร้างสายใยความสัมพันธ์ สร้างโอกาส สร้างแรงบันดาลใจ คนจะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเองโดยไม่รอเงิน หน่วยงานส่วนใหญ่มักเข้าไปให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ สอนการป้องกัน แต่วิธีการนี้จะให้ความรู้เฉพาะที่ต้องใช้จริง ไม่อบรม ชี้นำ ไม่สั่ง หรือห้าม ผู้คนแปลกใจเมื่อตนลงพื้นที่ เพราะเข้ามารับฟัง รู้สึกชื่นชมเราทำให้พวกเขาได้พูดแชร์ประสบการณ์และส่งเสริมให้คนในชุมชนสนับสนุนกันเรียนรู้จากการลงมือทำ" นพ.ฌองกล่าว
ผู้เขียนชาวเบลเยียมกล่าวถึงสาระในหนังสือว่า ชวนให้ชุมชนองค์กรเปลี่ยนตัวเองจากเครื่องขยายเสียงมาเป็นเครื่องบันทึกเสียงผ่านกระบวนการ SALT ซึ่งมีความหมาย support สนับสนุน, Stimulate กระตุ้น, Appreciate ชื่นชม, Action ปฏิบัติ, Analyse วิเคราะห์, Learning เรียนรู้, Link เชื่อมโยง และ T มาจาก Team ทีม Transform Transfer (ถ่ายทอด) ซึ่งกระบวนการนี้ต้องยึดหลักความเป็นมนุษย์ เห็นคุณค่าของชีวิตแลกเปลี่ยนและทบทวนวิถีการใช้ชีวิตของตนเอง ชุมชนและครอบครัว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเกิดผลสำเร็จในแง่การหยุดแพร่กระจายโรคเอดส์ และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรอบได้จริง ประเทศไทยน่าชื่นชมรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนจากใช้ความกลัวมาเป็นความห่วงใยผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้สกัดวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 ที่ทั่วโลกวิตกในเวลานี้ ชุมชนสามารถประเมินศักยภาพในการป้องกันตัวเอง
"หนังสือเสนอวิธีการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตามเวทีทั่วไปผู้ป่วยเอดส์มาบอกเล่าประสบการณ์ คนฟังร่วมฟังแล้วจบไป ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หากใช้กระบวนการนี้จะล้อมวงพูดคุย ตนทำหน้าที่บันทึก ยกตัวอย่างเรื่องราวของผู้ป่วยเอดส์เชียงใหม่ได้นำแรงบันดาลใจตัวเองไปเปลี่ยนแปลงชุมชนได้จริง นอกจากไทยแล้วที่แอฟริกาใช้วิธีการนี้ชาวบ้านรวมตัวกัน เห็นว่ากระบวนการ SALT เป็นแนวทางการใช้ชีวิต ไม่ใช่เครื่องมือ องค์กรของเราก็ทำตามกระบวนการนี้ ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน
องค์กรของเราทำงานด้วยความเชื่อใจ ไม่มีลำดับขั้นไม่ยึดติดหน้าที่ ในและนอกต้องทำงานประสานกัน และสร้างเซลล์ใหม่เพิ่มในพื้นที่ต่างๆ โดยมีวิถีที่คล้ายคลึงกัน แต่หากจะปรับเปลี่ยนก็สามารถทำได้ ทำแล้วได้ผล ถ้ากังวลเรื่องเงินเป็นตัวตั้งจะทำลายวิถีนี้ ปี 2547 มี 2 หมื่นคนมาประชุมโรคเอดส์ ซึ่งภาคเหนือหยุดการแพร่กระจายโรคเอดส์เกือบ 0 เปอร์เซ็นต์ แต่นักการเมืองต้องการเงินแก้ปัญหามากขึ้น" นพ.ฌอง-หลุยส์ลองโบเรย์กล่าว
ด้าน ผศ.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทางสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนร่วมกับ สสส. สปสช. และ The Constellation ประเทศเบลเยียม จัดอบรมเพื่อพัฒนา Community Ownership ด้วย process SALT ที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ระหว่างวันที่ 16-20 มีนาคม 2563 พร้อมติดตามผลการดำเนินงานผู้เข้าอบรม โดยนำ process SALT ไปดำเนินการในชุมชนกลุ่มผู้สูงอายุและรายงานผลเป็นระยะทุกเดือนผ่าน teleconference กับทีมของ The Constellation เป็นเวลา 6 เดือน
"กระบวนการ SALT ที่ผู้เขียนพูดถึงไม่ใช้วิธีการ แต่แทรกซึมทั่วไป หลักการเหมือนสาธารณสุขมูลฐานและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คนอยู่ได้ด้วยขาของตัวเอง ไม่ขอเงินจากผู้บริจาค แต่เรามีคุณค่าอีกเรื่อง ความเป็นธรรมและเท่าเทียม ทั้งยังเป็นยุทธศาสตร์ เน้นการมีส่วนร่วมชุมชนและความรู้สึกเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้มองคนเป็นพลังบวกและมีประสบการณ์ สุดท้ายเรื่องกระบวนกรนำกระบวนการนี้ไปแลกเปลี่ยนกับชุมชน ซึ่งกระบวนกรไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญไปยัดความรู้ใส่ชุมชน แต่ไปเรียนรู้ รวมถึงเป็นองค์กรมีชีวิตปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์วิธีการนี้องค์กรนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่เฉพาะชุมชน" ผศ.นพ.ภูดิทกล่าว
สนใจมีหนังสือ "สิ่งใดเล่าทำให้เราเป็นมนุษย์ What makes us Human?" ไว้ในครอบครอง สามารถหาได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำ หรือ www.sookpublishing.com และเฟซบุ๊ก Sookpublishing.