หญิงสูงอายุเสี่ยงป่วยอัลโซเมอร์มากกว่าชาย

/data/content/25886/cms/e_fgjklotx1258.jpg

         นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเทศไทย  เผยเพศหญิงจะป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์มากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศชายมีอายุสั้นกว่าเพศหญิง จะพบได้ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป     

         พ.ญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน อาจารย์สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเทศไทย กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคสมองเสื่อม อุบัติการณ์ของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บสถิติโดยตรง แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้านคน จะมี 10% หรือประมาณ 7 แสนคนจะป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ มีทั้งที่ญาติรู้และไม่รู้ว่าผู้สูงอายุป่วย ขณะเดียวกันเพศหญิงจะป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์มากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศชายมีอายุสั้นกว่าเพศหญิงจะพบได้ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป อาการทั่วไปของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือหลงลืมเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และญาติพี่น้อง จำแนกซ้าย-ขวา หรือจำทางไม่ได้ พูดเรื่องเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา และหากเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีการสูญเสียความสามารถในการรับประทานอาหารและการเดิน

       พ.ญ.สิรินทร กล่าวว่า ทั้งนี้กลับพบว่าผู้ที่จะพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือเพื่อนร่วมงานมากกว่าญาติพี่น้อง เนื่องจากผู้ร่วมงานจะสังเกตเห็นความผิดปกติของผู้ป่วยได้มากกว่าครอบครัว ที่ส่วนมากคิดว่าอาการหลงลืมเป็นเรื่องธรรมดาของคนสูงอายุ สำหรับการป้องกันควรเริ่มตั้งแต่การดูแลเรื่องอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในต่างประเทศพบว่าผู้ที่ออกกำลังการอย่างสม่ำเสมอจะเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย, หมั่นเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ, อารมณ์ดี ไม่เครียด, เขียนและอ่านหนังสือ เพื่อช่วยเสริมสร้างจินตนาการ

 

 

        ที่มา : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code