ส่องสถานการณ์ยาเสพติดช่วงโควิด-19 ใช้ลดลง วัยรุ่นยังน่าห่วง
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. สำรวจสถานการณ์การใช้ยาเสพติดในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15 ปีขึ้นไปใน 15 จังหวัดทั่วภูมิภาคของไทย มีการใช้สารเสพติดน้อยลง ไม่บูมเหมือนช่วงเวลาปกติ ขณะที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงโควิดดื่มน้อยลง 56% และการสูบบุหรี่ก็น้อยลง 28%
ผลสำรวจยาเสพติดของไทยที่ตัวเลขลดลง เป็นผลมาจากประเทศไทยรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี มีประกาศเคอร์ฟิว ทำให้การขนส่งลำเลียงยาเสพติดยากขึ้น ช่วยสกัดการซื้อขายยาเสพติด รวมทั้งมาตรการล็อกดาวน์ ปิดสถานบันเทิงที่อาจเป็นแหล่งขายยา และมาตรการรักษาระยะห่าง ลดการมั่วสุม ดังนั้น หากไทยมีแผนต่อเนื่องเพื่อให้ยาเสพติดเข้าถึงประชาชนยากขึ้น และนำผลศึกษาใช้พัฒนาแนวทางเฝ้าระวังจะส่งผลดีต่อสังคมและสุขภาพคนไทยในภาพรวม
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจการรับรู้ความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติดในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,825 รายในไทย โดยสำรวจเก็บข้อมูลด้วยการโทรศัพท์สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 20-24 พ.ค.ที่ผ่านมา พบข้อมูลที่น่าสนใจ เมื่อถามถึงการใช้สารเสพติดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 4.6 มีการใช้สารเสพติด อาทิ กัญชา ใบกระท่อม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ แต่ในช่วงระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มใช้สารเสพติดน้อยลง ร้อยละ 29.8 สะท้อนภาพประชาชนบางส่วนไม่ตระหนักการรักษาสุขภาพในช่วงโควิด ปัจจัยมาจากมาตรการควบคุมโรคระบาด ทำให้คนต้องกักตัวอยู่บ้าน เว้นระยะห่าง สารเสพติด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ก็ลดลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าวต่อว่า ผลสำรวจพบร้อยละ 61.2 รู้ว่าการใช้สารเสพติดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ร้อยละ 79.3 รู้ว่าสารเสพติดทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย ติดเชื้อง่าย ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 12.8 พบรับรู้ว่ามีการใช้สารเสพติดในชุมชน โดยบุคคลที่ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่เป็นเพื่อนบ้าน รองลงมาคือ คนในชุมชน นอกจากนี้ ร้อยละ 7.6 ยังพบเห็นมีการซื้อขายสารเสพติดในชุมชน ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยมีมานาน แม้ผู้ใช้สารเสพติดหน้าใหม่จะลดลง แต่ที่น่ากังวล ผู้ใช้รายใหม่อายุน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 12-19 ปี มีการใช้สารเสพติดมากถึงร้อยละ 3.72 ในปี 2562 โดยครึ่งหนึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มสารเสพติดที่ใช้เพิ่มขึ้นคือ กัญชา พืชกระท่อม และเฮโรอีน และมีแนวโน้มการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมากกว่าหนึ่งชนิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเสพโดยการฉีดเข้าสู่ร่างกาย
"สสส.และภาคีเครือข่ายจะนำผลสำรวจไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานเฝ้าระวังและเยียวยาสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐต่อไป แต่พลังสำคัญคือ การรณรงค์สื่อสารข้อมูลที่ชัดเจน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อย่างบุหรี่ใช้ข้อความ "สูบบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง" ทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง มาตรการที่ทำช่วยได้ เดิมนักสูบ 40% ขณะนี้เหลือ 19% แอลกอฮอล์ การดื่มหนักก็ลดลง ขณะที่ผู้ใช้สารเสพติด หากติดโควิดจะมีอาการมากกว่าคนปกติ ต้องรณรงค์ให้คนถอยห่างจากยาเสพติด เพราะแม้ตัวเลขใช้สารเสพติดลดลงอาจเป็นระยะสั้น ต้องศึกษาติดตามต่อไป แต่เป็นสัญญาณที่ดี คนให้ความสำคัญต่อสุขภาพ แต่อย่าชะล่าใจ สังคมต้องช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการไม่ใช้สารเสพติด หรือเลิกดื่ม หยุดสูบ รวมถึงครอบครัวช่วยฟูมฟักเลี้ยงดู สร้างความเชื่อใจกัน" ดร.ไพโรจน์กล่าว
ส่วนสถานการณ์ยาเสพติดในเมืองไทย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก. กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 1 ใช้สารเสพติดผิดกฎหมายในช่วง 12 เดือนมา กลุ่มที่พบใช้มากที่สุดคือ กัญชา กระท่อม ถัดมากลุ่มเมตแอมเฟตามีน เช่น ยาไอซ์ และยาบ้า นอกจากนี้ พบยาอี ยาเค ส่วนเฮโรอีนและฝิ่นยังไม่ระบาดมากนัก หากดูผลสำรวจยาเสพติดช่วงโควิด พบการใช้กัญชาและกระท่อมเป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้กลุ่มเด็กเจอความชุกใช้สารเสพติดมากขึ้น ที่ต้องระมัดระวังคือ กลุ่มอายุ 12 ปี มีการทดลองและจับกลุ่มกับเพื่อน รูปแบบติดต่อซื้อขายก็เปลี่ยนไป จะใช้สื่อสังคมออนไลน์ และเด็กเข้าถึงแหล่งขายยาได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนวินเชสเตอร์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ สำรวจร่วมกันเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 กับผลทางสุขภาพจิตในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในอังกฤษและไทย ผลศึกษาพบเยาวชนมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลสูง ร้อยละ 42-62 และมีการใช้สารเสพติดในช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ SAB
กลุ่มที่น่าเป็นห่วง ผู้จัดการ ศศก.ระบุ เป็น กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดประเภทสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่เสพโดยการสูดควันเข้าสู่ร่างกาย เช่น ไอซ์ ยาบ้า กัญชาแบบสูบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อปอดโดยตรง หากติดโควิด-19 จะมีอาการที่แย่ลงกว่าคนปกติ เพราะเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายปอด รวมถึงสารที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวดกลุ่มโอปิออยส์ (Opioids) เช่น ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาแก้ปวด ก็น่ากลัว จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อซึ่งไวรัสกินปอดอยู่แล้ว อาการทรุดลง เพราะออกฤทธิ์กดประสาททำให้หายใจช้าลง และระดับออกซิเจนในเลือดลดลงตาม ทั้งนี้ ผู้เสพยาเสพติดถือเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบาง ในช่วงที่มีผู้ใช้สารเสพติดลดลง รัฐควรออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้สารเสพติดเข้าถึงประชาชนได้ยากขึ้น รวมถึงสร้างความเข้าใจกับประชาชน ไม่รังเกียจหรือกีดกันผู้ติดยาเสพติด ให้กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงแพทย์ได้อย่างเต็มที่เมื่อติดโควิด
"มาตรการรักษาระยะห่าง การเข้าถึงสารเสพติดได้ยากขึ้น บวกกับคนห่วงสุขภาพของตัวเองมากขึ้นช่วงโควิด ช่วยให้การระบาดของโควิดอยู่ในระดับปลอดภัยและการใช้สารเสพติดลดลง แต่ไม่ควรประมาท เพราะอาจทำให้โควิด-19 ระบาดในไทยอีกครั้งได้ ทุกภาคส่วนต้องรณรงค์ต่อไป เพราะแนวโน้มด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะไวรัสโคโรนา แต่รวมถึงไวรัสตัวอื่นๆ มาตรฐานการดูแลความปลอดภัยยังจำเป็น" รศ.พญ.รัศมนกล่าวในท้าย
นอกจากฝ่าวิกฤติโควิด จะต้องรวมพลังแก้ปัญหาการใช้สารเสพติดในประเทศไทยด้วย ปกป้องกลุ่มเสี่ยงและดูแลกลุ่มวัยรุ่นที่ยังพบการแพร่ระบาดของสารเสพติด.