ส่งเสริม ‘CODE’ เพื่อเด็กไทยได้ดื่มนมแม่
แม้ว่าปัจจุบัน “แม่รุ่นใหม่” จำนวนมากจะมีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น แต่เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ รวมถึงข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตของแม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความคิดและ พฤติกรรมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เมื่อไม่นานมานี้ กรมอนามัย ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่ง ประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย จัดงาน “ร้อยเรียงว่าด้วย CODE” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งสัญญาณความพร้อมในการผลักดันหลักเกณฑ์ว่าด้วยการ ตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ให้เป็นพระราชบัญญัติเพื่อมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม หวังปกป้องสิทธิเด็กไทยได้ดื่มนมแม่
นพ. ดนัย ธีวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า CODE คือคำย่อของ International Code of Marketing of Breast – milk Substitutes หรือ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกเมื่อปี 1981 มีมติให้การรับรอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รับการ เลี้ยงดูด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวใน ช่วง 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องพร้อมอาหารตามวัยที่เหมาะสมเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือนานกว่านั้น เนื่องจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันทางวิชาการว่าดี ต่อสุขภาพกายและใจของทั้งผู้เป็นแม่และทารก
ทางกรมอนามัย ได้พยายามผลักดันส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการเสนอวาระการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กเข้าสู่ที่ ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จนกระทั่งมีมติเห็นชอบจากที่ประชุม พร้อมทั้งเร่งเดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ. และสรรหาทุกวิถีทางในการสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมกับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยยุทธวิธีที่หลากหลาย
“สำหรับความคืบหน้าของการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่ เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากยังคงมีประเด็นเรื่องการจัดทำประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะนี้ จึงอยู่ในระหว่างการกำหนดวันเวลาที่ เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ย. นี้ จากนั้น จึงนำร่างเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าว
ด้าน สง่า ดามาพงษ์ กรรมการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ของตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทยขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจนมผงซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบทำให้อัตราการ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดน้อยลง ผ่านช่องทางการตลาดที่พยายามสื่อสารว่านมผงมีสารอาหารเทียบเท่ากับนมแม่ อาทิ การแจกตัวอย่างนมผงให้กับคุณแม่ที่ไปฝากครรภ์หรือคุณแม่แรกคลอดตามโรงพยาบาล ต่างๆ จึงมักก่อให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนมจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล
หากแต่ขณะนี้ CODE ในประเทศไทย ยังไม่ได้บัญญัติขึ้นเป็นกฎหมาย ยังคงเป็นเพียงข้อแนะนำ ในการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาการละเมิดไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำจึงไม่มีผลทางกฎหมาย
“ดังนั้น ประเทศไทยควรเร่งผลักดัน พระราชบัญญัติการตลาดอาหารสำหรับทารก เด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ และสิทธิของเด็กไทยให้ได้ดื่มนมแม่มากขึ้น” สง่า ดามาพงษ์ กล่าว
จากนั้น พรธิดา พัดทอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสารนิเทศ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กล่าวว่า พระราชบัญญัติการตลาดอาหาร สำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง คือเครื่องมือในการปกป้องสิทธิของทารกและเด็กเล็กที่จะได้กินนมแม่ เพราะนมแม่มีประโยชน์มากมาย ทั้งสารอาหารครบถ้วนเหมาะสมต่อการย่อยและการดูดซึม ช่วยในการพัฒนาการของลูก มีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะหัวน้ำนมนั้นเป็นวัคซีนหยดแรกของชีวิต ป้องกันการแพ้โปรตีนหรือป้องกันภูมิแพ้
“นอกจากนี้ ยังดีต่อสุขภาพคุณแม่ ทำให้รูปร่างดี ไม่อ้วน และยังลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคร้ายในหญิงไทยเป็นอันดับต้นๆของการเสียชีวิตด้วยมะเร็ง ตลอดจนประหยัดรายจ่ายในการซื้อและเตรียมนมผสม ซึ่งความเป็นจริงแล้ว คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวตลอด 6 เดือนได้ โดยไม่เสียเงินค่าอาหารของลูกแม้แต่บาทเดียว” พรธิดา พัดทอง กล่าว
เมื่ออนาคตของเด็ก คือ อนาคตของชาติ การส่งเสริมให้พวกเขาได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการและเป็นส่วน หนึ่งในการสร้างเสริมทักษะของชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้อง ‘ตระหนัก’ ถึงคุณค่า และร่วมมือกันดำเนินงานต่อไป
ไม่ใช่เพราะใคร … แต่เพื่อประเทศไทยของเราทุกคน
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th