ส่งต่อเด็กพิการสู่โลกการทำงาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
สอศ.ร่วมกับอบจ.เชียงใหม่ สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ให้เด็กพิการ โดยออกแบบการจัดการศึกษาสู่โลกของการทำงาน
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จ.เชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดประชุมความร่วมมือเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่มีความพิการ บกพร่องทางพฤติกรรมและการเรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมนำร่องระบบส่งต่อฐานข้อมูลเด็กเยาวชนที่มีภาวะพิการทุกกลุ่มผ่านการเชื่อมต่อสารสนเทศระหว่างศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา ร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อออกแบบการจัดการศึกษาสู่โลกของการทำงาน
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการ สอศ. กล่าวว่า จากที่ สอศ.ร่วมมือกับ สสค. และจุฬาฯ ทำการวิจัยการจัดการศึกษาสายอาชีพสำหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ก็พบว่า เด็กพิเศษสามารถพัฒนาทักษะให้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้พิการกว่า 4 แสนคน หากเปลี่ยนภาระให้เป็นพลังจะสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างน้อย 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการรู้ข้อมูลผู้เรียนที่มีภาวะพิการล่วงหน้าเพื่อออกแบบหลักสูตรตามศักยภาพของผู้พิการในแต่ละประเภทและงบประมาณรองรับ ระบบฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญจึงขยายผลการทำงานไปสู่ระบบส่งต่อข้อมูลสารสนเทศผู้พิการทุกประเภทจากการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีเด็กพิการในแต่ละช่วงชั้นไปยัง สอศ. และเชื่อมต่อสถานประกอบการ โดยนำร่องใน จ.เชียงใหม่ เนื่องจากมีศักยภาพและความร่วมมือของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะเป็นการย่อส่วนของประเทศไทยในการเชื่อมต่อการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน หากสามารถทำได้จริงก็จะขยายผลต่อไป
"ผมคิดว่าต้องมีร่างโครงการและแผนปฏิบัติการร่วมกันถึงการส่งต่อข้อมูลไปยังสถานประกอบการ โดยจุฬาฯ จะเป็นผู้ร่างแผนงาน และม.นเรศวรจะเป็นผู้ช่วยวางระบบการส่งต่อข้อมูลสารสนเทศ วันนี้จึงถือโอกาสคุยกันถึงภารกิจแต่ละหน่วยงาน โดยมีวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่เป็นหลักในการทำงานในเชียงใหม่ร่วมกับสถาบันการศึกษาในจังหวัด เตรียมนำร่องระบบส่งต่อข้อมูลเด็กพิการสู่โลกการทำงาน"
นายไพรัช ใหม่ชมพู รองนาย อบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เพื่อให้การส่งต่อข้อมูลของเด็กพิการสู่สถานประกอบการอย่างเป็นระบบ จะต้องมีการทำชุดข้อมูลปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้ตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศขึ้น และอยู่ในกระบวนการหาวิธีการสำรวจข้อมูลอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลจริง ผ่านการทำงานร่วมกับ อบจ.เชียงใหม่ จึงอยากให้ สสค.ช่วยออกแบบข้อมูลในแบบง่ายๆ เพื่อให้ได้เป็นฐานข้อมูลระยะยาว ใช้ในการเก็บข้อมูลเชื่อมกับสถานประกอบการ และผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะร่วมกัน
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า หากใช้ศักยภาพภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่มี อบจ.เป็นแกนประสานงานเชื่อมต่อระบบจัดการระดับพื้นที่จะทำให้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของเชียงใหม่เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งการสำรวจข้อมูลเด็กพิการ และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ รวมทั้งการวางระบบส่งต่อระหว่างท้องถิ่น ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษา และการขยายตัวแบบจากเชียงใหม่ไปสู่ระบบที่ใหญ่ขึ้นที่จะมีผลกระทบต่อเด็กจำนวนมากขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นงานระยะยาว รวมทั้งต้องมีการศึกษาต้นทุนค่าใช้จ่ายรายหัวเด็กพิการเพิ่มเติม เพื่อเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขอตั้งงบประมาณของ สอศ.รองรับเด็กกลุ่มนี้ได้พอเพียง เพื่อเปลี่ยนกลุ่มเด็กเยาวชนที่สังคมมองเป็นภาระให้เป็นพลัง มุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียมในระบบการศึกษาไทย