สูด ‘ฝุ่นละออง’ ต่อโรคทางเดินหายใจ
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ที่มา : หนังสือ ‘ชีวิตติดฝุ่นอันตราย’ จัดพิมพ์โดย สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
ภาพประกอบโดย : นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th
ช่วงวันฝนพรำแบบนี้แม้จะพยายามขลุกตัวอยู่แค่บ้านกับที่ทำงาน เพราะไม่อยากออกไปที่ที่มีผู้คนแออัด เบื่อกับการเบียดเสียด และเสี่ยงต่อการป่วยเล็กๆ น้อยๆ จากการไอ จาม ที่อยู่ใกล้กันเพียงคืบมือ หากลืมหยิบหน้ากากอนามัย ที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคต่างๆ ได้ ก็คงจะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจไม่น้อยไปกว่าการลืมหยิบหูฟังออกจากบ้าน แต่รู้หรือไม่ ว่าหน้ากากอนามัยไม่ได้มีค่าแค่ป้องกันเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ป้องกันฝุ่นละอองและควันพิษร้ายๆ ที่จะเข้าสู่ระบบร่างกายของเราจากการสูดลมหายใจเข้าไปนั่นเอง
เพราะในทุกๆ วัน เราต่างก็ต้องสัมผัสและสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปไม่รู้เท่าไหร่ อยู่ในบ้านก็สัมผัสกับไรฝุ่น ยิ่งออกนอกบ้านก็ยิ่งต้องพบเจอมลภาวะฝุ่นควันเยอะกว่าเป็นเท่าตัว เพราะฝุ่นมักมาพร้อมกับมลภาวะทางอากาศ ทั้งควันจากท่อไอเสีย หรือควันจากการเผาไหม้ขยะ ซึ่งฝุ่นเล็กๆ นี่เองที่เป็นตัวการก่อโรคทำให้คนเราเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ
‘ฝุ่นละอองในอากาศ’ ที่เราๆ ต่างก็ต้องสัมผัสสูดดมมีขนาดตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา มีทั้งแบบที่เรามองเห็นและไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งฝุ่นที่อยู่ในมลภาวะทางอากาศนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบแค่คนเท่านั้น แต่ยังส่งผลด้านสุขภาพต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (เล็กกว่า 1,000 เท่าของขนาดเม็ดน้ำตาลทราย) และมีค่าความเข้มข้นสูงเกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ไปจนถึงถุงลมปอด แล้วทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคือง นำมาซึ่งโรคระบบทางเดินหายใจ ที่สำคัญยิ่งเม็ดฝุ่นมีขนาดเล็กมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความอันตรายมากเท่านั้น
เม็ดฝุ่นละอองยังปะปนไปด้วยแก๊สพิษและสารไฮโดรคาร์บอนบางชนิดที่เป็นภัยต่อสุขภาพ หากหายใจเอาหมอกควันพิษเข้าไปจะยิ่งเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด
ไม่ใช่แค่คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับฝุ่นละออง คนต่างจังหวัดก็ต้องเสี่ยงกับมลภาวะทางอากาศด้วย ซึ่ง หมอกควัน คือการรวมกันของเม็ดฝุ่นขนาดเล็กและกลุ่มควันต่างๆ จะมองเห็นหมอกควันชัดในช่วงที่สภาพอากาศแห้ง เช่น ปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน และเมื่อต้นปี 2561 ทีผ่านมา ภาคเหนือของประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤติหมอกควันสูงสุดในรอบปี
ต้นเหตุการณ์เกิดหมอกควันพิษ เช่น เกิดจากธรรมชาติ จากไฟป่า เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทั้งการเผาเศษพืชและเศษวัสดุการเกษตร การเผาขยะมูลฝอย เผาวัชพืช และมลพิษจากอุตสาหกรรม
โดยพบว่า นักเรียนในกรุงเทพฯ ได้รับสาร Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) และ Benzene มากกว่านักเรียนในชนบทถึง 6 และ 2 เท่า
ฝุ่นละออง มีกี่ประเภท
1. ฝุ่นละอองรวม (Total Suspended Particulate : TSP) เกิดจากการเผ้าไหม้เชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน ฟืน แกลบ จะมีสารพิษที่เป็นอินทรียสารและอนินทรียสารเป็นส่วนประกอบ ฝุ่นชนิดนี้มีอนุภาคขนาดเล็ก มักพบเจอในภายในและภายนอกอาคาร
2. ฝุ่นหยาบ (Particulate Matter : PM10) มีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน เช่น ฝุ่นที่เกิดจากถนนที่ไม่ได้ลาดยาง หรือโรงงานบดหิน เป็นต้น
3. ฝุ่นละเอียด (Particulate Matter : PM 2.5) มีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจากควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม
สังเกตระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองในหมอกควันได้ยังไง
หากอยู่บนถนน สามารถมองเห็นรถยนต์ข้างหน้าได้ไกล ไม่เกิน 100 เมตร มองเห็นเสาไฟได้ไม่เกิน 3-4 ต้น มองออกไปไม่เห็นยอดภูเขา เป็นต้น
อาการแพ้ฝุ่นละอองและหมอกควัน
ระคายเคืองหรือแสบตา ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ภูมิแพ้กำเริบหรือแสบจมูก ระคายเคืองผิวหนัง อึดอัดแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ หรือเด็กที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเสี่ยงที่จะมีอาการทรุดหนัก
ซึ่งหากปล่อยสะสมไว้นานๆ ก็จะยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงจนเกิดเป็นโรคร้าย เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดแข็งจากภาวะฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis) และฝุ่นละอองอาจเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองหรือระบบเลือด ยิ่งเพิ่มความรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือมะเร็งปอด
เอาตัวรอดจากฝุ่นละอองและหมอกควันพิษ
1. ปิดประตูหน้าต่าง ไม่ให้ฝุ่นเข้ามาในตัวอาคาร
2. ดื่มน้ำมากๆ
3. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำสะอาด แล้วบ้วนทิ้ง วันละ 3-4 ครั้ง ห้ามกลืน
4. เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องออกแรงมากๆ โดยเฉพาะการออกกำลังกายในที่แจ้ง
5. สวมหน้ากากอนามัยชนิดกรอง 3 ชั้น เมื่อต้องพบเจอมลภาวะทางอากาศ ซึ่งจะช่วยป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอนได้ ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน หรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก
6. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด ควรเตรียมยา และอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัว
7. งดสูบบุหรี่
8. ปลูกต้นไม้สูงรอบบ้าน สามารถช่วยกรองอากาศและผลิตออกซิเจน
9. หากมีอาการผิดปกติหลังสูดดมหมอกควัน เช่น หายใจไม่ออก หรือระคายเคืองแสบตา ควรรีบไปพบแพทย์
“ที่เธอเห็นแค่ฝุ่นมันเข้าตา ฉันไม่ได้ร้องไห้…” อย่าลืมไปว่า แค่เดินลงไปนั่งกินข้าวเที่ยงแถวๆ ออฟฟิศที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง หรือจะยืนต่อแถวเข้าคิวรอรถตู้กลับบ้านที่หางแถวยาววนจนชนกันอย่างกับเล่นแม่งูเอ๋ย ก็เสี่ยงที่จะทำให้เราป่วยได้เหมือนกัน
การจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงไร้ซึ่งความเจ็บป่วยได้นั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่ออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาจากการรอบรู้ รู้จัก ป้องกัน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยต่างๆ รวมถึงมีสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี เช่นเดียวกับการป้องกันตัวเองไม่ให้ฝุ่นละอองเล็กๆ มาทำร้ายความบริสุทธิ์ของปอดเราได้