สูดบุหรี่มือสองในวัยเด็ก เสี่ยงภาวะแท้ง
ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เปิดเผยรายงานการวิจัยที่พบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็กทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับหญิงที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก
จากรายงานของเมืองกว่างโจว โดยนักวิจัยชาวจีน ตีพิมพ์ในวารสารโทแบคโก คอนโทรล เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม โดยวิเคราะห์ประวัติสุขภาพของหญิง 19,562 คน ที่ร้อยละ 56.7 หรือ 11,091 คน ที่ขณะเป็นเด็กได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน เป็นเวลามากกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ ในบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่อาศัยอยู่ด้วย โดยความเสี่ยงของการแท้งลูกเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่สัมผัสควันบุหรี่มือสอง รายงานนี้เป็นรายงานแรกจากเอเชียที่พบความสัมพันธ์ของการได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก กับการเพิ่มความเสี่ยงการแท้งลูกของสตรีในวัยเจริญพันธุ์ โดยสาเหตุอื่นๆ ของการแท้งลูก ได้แก่ การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ การที่สามีเป็นคนสูบบุหรี่ การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องขณะตั้งครรภ์ การได้รับมลพิษจากการประกอบอาชีพหรือจากสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยสันนิษฐานว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองขณะเป็นวัยเด็กทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเด็กที่กำลังเจริญเติบโต จนนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งลูกได้
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า การสำรวจล่าสุด พ.ศ.2558 พบว่า เด็กไทยอายุ 13-15 ปี ร้อยละ 33.8 ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2554 พบว่า ร้อยละ 31.2 ของหญิงไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยภาคใต้มีอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงสุดคือ ร้อยละ 43.5 และกรุงเทพฯ ต่ำสุดคือ ร้อยละ 13.2 จึงขอเรียกร้องให้ผู้สูบบุหรี่ไทยทุกคนไม่สูบในบ้าน หรือดีที่สุดควรเลิกสูบ