สูดควันรถยนต์ชม.เดียวทำสมองเปลี่ยน

อนุภาคนาโนจากท่อไอเสียมีผลต่อการทำงานของสมอง

 

สำนักข่าวบีบีซีออนไลน์รายว่า ทีมนักวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ศึกษาพบว่าการสูดดมควันจากท่อไอเสียรถยนต์แม้เพียงแค่ชั่วโมงเดียวนั้นไม่เพียงแค่จะทำให้คนเราสึกปวดหัวได้เท่านั้น แต่ยังอาจมีกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในการทำหน้าที่ของสมองอีกด้วย

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันแล้วว่าอนุภาคฝุ่นขนาดนาโนจากควันท่อไอเสียนั้นสามารถเข้าไปถึงในสมองของคนเราได้ผ่านการสูดดมเอาควันเหล่านั้นเข้าไป แต่การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแรกที่แสดงให้เห็นว่าอนุภาคจากควันท่อไอเสียรถยนต์นี้ไปมีผลกระทบต่อกระบวนการประมวลข้อมูลของสมองคนเรา

 

นักวิจัยชาวดัชท์ทีมนี้ได้ทำการจำลองสิ่งแวดล้อมในห้องทดลองให้เหมือนกับสภาพที่คนซึ่งทำงานในอู่ซ่อมรถหรือคนที่ทำงานริมถนนต้องเผชิญอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ผู้ร่วมการทดลองเข้าไปอยู่เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยนักวิจัยได้เอาอุปกรณ์อีเลคโทรเอนเซ็ปฟาโลกราฟ หรืออีอีจี (electroencephalograph: eeg) ซึ่งใช้เพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของสมองไปติดไว้ที่ตัวผู้เข้าร่วมการวิจัยด้วย ทำให้สามารถเฝ้าติดตามดูการทำงานของสมองพวกเขาในระหว่างที่ต้องสูดดมควันไอเสียรถยนต์ในห้องทดลองนั้น

 

ผลการทดลองพบว่าภายหลังจากที่อาสาสมัครสูดดมควันไอเสียรถยนต์เข้าไปเป็นเวลา 30 นาทีสมองของพวกเขาก็เริ่มมีปฏิกิริยาความเครียดตอบสนอง โดยนักวิจัยสังเกตได้จากข้อมูลที่ได้จากเครื่องอีอีจี ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นตัวบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกระบวนการประมวลข้อมูลของสมองในส่วนที่เรียกว่าคอร์เท็กซ์ และเมื่อยิ่งปล่อยให้อาสาสมัครอยู่ในห้องทดลองสูดดมควันท่อไอเสียนานขึ้นไปเท่าไหร่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสมองที่สังเกตได้นี้ก็จะดำเนินไปนานอีกเท่านั้น

 

เราคาดการณ์เอาว่าผลที่เกิดขึ้นในการทดลองนี้น่าจะเกิดขึ้นได้กับสภาพที่เราต้องไปถูกสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในเมืองที่มีความวุ่นวายเยอะๆ ซึ่งจะเป็นที่ที่มีอนุภาคคาร์บอนเหล่านี้อยู่ในปริมาณที่สูง คุณ พอล บอร์ม ผู้นำการวิจัยกล่าว

 

และนี่ทำให้มองเห็นว่าผลในระยะยาวของการถูกสัมผัสเอาอนุภาคนาโนเหล่านี้เข้าไปในร่างกายนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสมองและกระบวนการประมวลผลข้อมูลของสมองได้ ฉะนั้นจึงควรต้องมีการทำวิจัยต่อไปอีกเพื่อดูถึงผลของมันในระยะยาว คุณบอร์มกล่าว

 

ด้านศาสตราจารย์ เคน โดนัลด์สัน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านพิษวิทยาในระบบทางเดินหายใจ อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งเอดินเบอระ กล่าวว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสมองเมื่อที่คนเราได้สูดกลิ่นใหม่ๆ เข้าไปนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกและก็อาจไม่ใช่ผลในทางร้ายเสมอไป แต่อย่างไรก็ดีจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งหากจะได้มีการศึกษากันถึงผลระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงในสมองในลักษณะดังกล่าวนี้ต่อไป

 

ในขณะที่ก่อนหน้านี้มีการวิจัยในสุนัขอันหนึ่งซึ่งทำขึ้นมาเพื่อเทียบเคียงถึงปัญหาผลกระทบของมลพิษทางอากาศในเม็กซิโกต่อสมองของคน โดยการวิจัยนี้พบว่าผลของมลพิษในอากาศนั้นทำให้สมองเกิดความผิดปกติในสมองส่วนหนึ่งในลักษณะที่คล้ายกันกับที่เกิดในสมองของคนไข้โรคอัลไซเมอร์เลย

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ภาพประกอบ : www.thaihealth.co.th

 

 

update 13-03-51

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ