สูงวัยอย่างมีคุณภาพและคุณค่า

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


สูงวัยอย่างมีคุณภาพและคุณค่า thaihealth


แฟ้มภาพ


จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี พ.ศ.2560 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงวัยที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีจำนวน 11,312,447 คน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรไทยมีการคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2573 คนไทยที่อายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ จะมีมากกว่าร้อยละ 25


แต่ในหลายประเทศผู้สูงวัยหมายถึงบุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่ความเสื่อมของร่างกายตามธรรมชาติปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน มีโรคที่เกิดจากความเสื่อมตามวัยได้ องค์การอนามัยโลกให้คำจำกัดความผู้สูงอายุที่มีสุขภาวะดีว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคน้อย แม้มีโรคก็มีสุขภาพดีโดยมีร่างกายแข็งแรง คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง จิตใจผ่องใสและเป็นสุข ดูแลตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เข้าสังคมและร่วมกิจกรรมในสังคมได้ จัดเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและคุณค่า


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รายงานในปีพ.ศ.2557 พบว่า ร้อยละ 70 (10.5 ล้านปี จากทั้งหมด 14.9 ล้านปี) ของปีสุขภาวะที่คนไทยสูญเสีย เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communication Diseases) โดยโรคที่พบเป็นสาเหตุบ่อยเรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์และอัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง กลุ่มโรค NCDs ทั้งหมดเกิดจากคนไทยดำรงชีวิตประจำวันทั้งการกินการอยู่แบบคนเมืองมากขึ้น นั่นคือ บริโภคอาหารปริมาณมาก แต่สัดส่วนและคุณภาพไม่เหมาะสม มีไขมันน้ำตาลและเกลือปริมาณมาก มีการเคลื่อนไหวร่างกายและกิจกรรมออกแรงน้อยลง ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียดรีบเร่งและแข่งขัน แวดล้อมด้วยมลพิษ ยาสูบ แอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด


ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทุกวัย เริ่มตั้งแต่ทารกในครรภ์ มารดาต้องเรียนรู้และดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์อย่างถูกต้องเพื่อให้มีสุขภาพดี มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม ประมาณ 12-15 กิโลกรัม ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ การบริโภคและกิจกรรมออกแรงที่มารดาทำจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของทารกในครรภ์ ถ้ามารดาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก บางคนมากเกิน 20 กิโลกรัม ทารกอาจมีน้ำหนักตัวแรกเกิดมากเกินไปหรือถ้ามารดาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยไปทารกอาจมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย ทำให้มีความเสี่ยงขณะคลอดและสุขภาพที่ไม่ดีในอนาคต นอกจากนี้ มารดาต้องนำสิ่งที่เรียนรู้ในขณะตั้งครรภ์มาเลี้ยงดูลูกให้เติบโตและพัฒนาตามวัย รวมทั้งควรดูแลความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวเพื่อให้ปลอดจากโรคเรื้อรัง NCDs ด้วย


ในวัยเรียน เด็กควรได้เรียนรู้การกินการอยู่ที่ถูกต้องจากโรงเรียนและทำได้จริง สอดคล้องกับการเลี้ยงดูที่บ้าน เมื่อเป็นผู้ใหญ่จึงดูแลตนเองได้และในที่สุดสามารถดูแลครอบครัวให้กินดีอยู่ดี วัยผู้ใหญ่หรือเมื่อเริ่มทำงานเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่สำคัญ เพราะเป็นช่วงเวลาของการสร้างฐานะ สร้างครอบครัวและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ เป็นช่วงชีวิตที่โรคเรื้อรัง NCDs มักก่อตัวขึ้นโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากระยะเริ่มแรกของโรคเรื้อรังไม่แสดงอาการใดๆ สัญญาณเริ่มแรกของโรคเรื้อรังที่เห็นง่ายวัดง่ายคือ น้ำหนักตัว รอบเอว และความดันโลหิตเพิ่มขึ้น คนที่การกินการอยู่ไม่เหมาะสม โรคเรื้อรังจะก่อตัวเร็วขึ้น หากไม่รู้ตัวไม่ได้รับการแก้ไขหรือรักษา โรคจะเป็นมากขึ้นจนแสดงอาการและความเจ็บป่วยออกมาชัดเจน ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาและติดตามต่อเนื่องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ถ้าวัยเรียนหรือวัยผู้ใหญ่สุขภาพไม่ดีมีโรคเรื้อรังเกิดขึ้น จะเป็นผู้สูงวัยที่เป็นภาระต้องรับการดูแลรักษาและความช่วยเหลือตลอดไป


จากรายงานการศึกษาพยากรณ์อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาวะของประชากรไทยโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ,กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปีพ.ศ.2558 ค่าอายุเฉลี่ยของคนไทยเท่ากับ 74.8 ปี แต่ค่าอายุเฉลี่ยที่มีสุขภาพดีของคนไทยเท่ากับ 68.2 ปี นั่นคือก่อนเสียชีวิตคนไทยอยู่โดยมีสุขภาพไม่ดีนานถึง 6.6 ปี ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งควรเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ คือผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีคุณภาพและคุณค่าตามลักษณะที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวดูแลสุขภาพตั้งแต่เยาว์วัย โดยต้องสร้างสุขภาวะดีตลอดอายุขัย เพื่อคนไทยมีชีวิตอยู่โดยปีที่มีสุขภาพไม่ดีน้อยลง ไม่ให้ประเทศชาติต้องแบกรับภาระด้านต่างๆ ของโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นในวัยทำงานหรือเมื่อสูงวัยมากเกินไปความคาดหวังให้ประเทศไทยมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สังคมไทยและชาติไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนจึงจะเป็นจริงได้

Shares:
QR Code :
QR Code