สุ่มตรวจสารปรอทอาหารทะเล

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


สุ่มตรวจปรอทในอาหารทะเล thaihealth


แฟ้มภาพ


“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารทะเลจากแหล่งจำหน่ายที่มีชื่อเสียง ในจังหวัดชลบุรี และระยอง เช่น ตลาดหนองมน สะพานปลาอ่างศิลา ตลาดประมงพื้นบ้านหาดสวนสน ตรวจวิเคราะห์หาสารปรอท พบปริมาณสารปรอทต่ำกว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในระดับ ที่ปลอดภัยต่อการบริโภค


นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ภาคตะวันออก ของประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2559 สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยกว่า 3 แสนล้านบาท นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ส่งเสริม การท่องเที่ยวให้เกิดการท่องเที่ยวซ้ำโดยเพิ่มในเรื่องของอาหารพื้นถิ่นขึ้น ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและสามารถช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศได้ โดยการตรวจวิเคราะห์คุณภาพความปลอดภัยอาหารมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ


อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารทะเล จำนวน 54 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลา หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก และกั้ง จากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดหนองมน และสะพานปลา อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ตลาดประมงพื้นบ้านหาดสวนสน จังหวัดระยอง นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณ สารปรอทที่ปนเปื้อน โดยใช้เครื่อง Mercury Analyzer หลักการ Cold Vapor Atomic Absorption Spectrometry (CVAAS) พบว่าอาหารทะเลทั้ง 54 ตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทต่ำกว่ามาตรฐานที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค


"การเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารทะเล ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภาคตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเลือกซื้ออาหารทะเลที่ปลอดภัย กรณีอาหารทะเลสด ควรสังเกตดูเปลือกและผิวหนัง หากตรวจดูแล้วยังไม่แน่ใจ อาจเทียบสีและกลิ่นของสัตว์ทะเลกับร้านขายที่อยู่ข้างเคียงก่อนตัดสินใจซื้อ หากพบว่าผิดปกติก็ไม่ควรรับประทาน ส่วนการเลือกซื้ออาหารทะเลตากแห้ง ต้องดูสีของอาหารว่าสดเกินไปหรือไม่ และเนื้อของอาหารมีการเปื่อยยุ่ยหรือไม่ ในกรณีที่เกิดอาการผิดปกติภายหลังจากการรับประทานอาหารทะเลที่ต้องสงสัยควรพบแพทย์ทันที" นายแพทย์สุขุมกล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code