‘สุรา’ ต้นเหตุล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่ฝีมือคนใกล้ตัว

องค์กรสตรี เปิดข้อมูลพบสถิติละเมิดทางเพศพุ่งพรวดในปี54 ผงะส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว-ในครอบครัว ทั้งพ่อ ตา พี่ชาย เพื่อน ครู พระ แฉอายุถูกข่มขืนน้อยสุดแค่ 5 เดือนถูกพี่เลี้ยงขืนใจ ส่วนนักเรียน-นักศึกษาถูกล่วงละเมิดสูงสุด รองลงมาเป็นพยาบาล-พนักงานบริษัท ปัจจัยกระตุ้นพบมาจากดื่มสุราเป็นส่วนใหญ่ เผยกลุ่มเพศที่สามก็ไม่เว้น โดนกระทำเพิ่มขึ้นเช่นกัน จี้หน่วยงานรัฐคุ้มครองเยียวยา หวั่นเหยื่อเก็บกด-ฆ่าตัวตาย

'สุรา' ต้นเหตุล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่ฝีมือคนใกล้ตัว

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่โรงแรมเฟิร์ส กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาหัวข้อ สถานการณ์การล่วงละเมิดทางเพศปี 2554 โดยมีนักวิชาการเข้าร่วมงานจำนวนมาก

น.ส.นิตยา พิริยะพงษ์พันธ์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวว่า จากสถิติความรุนแรงทางเพศนับวันยิ่งมีแนวโน้มน่าเป็นห่วง หลังจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเก็บตัวอย่างข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับในปี พ.ศ.2554 พบว่ามีข่าวถูกละเมิดทางเพศทั้งหมด 158 ข่าว แบ่งเป็นการข่มขืน 112 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 70.9 รองลงมาคือข่าวรุมโทรม 17 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 10.8 ข่าวพยายามข่มขืน 14 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.8 ต่อมาเป็นข่าวอนาจาร 12 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 7.6 และข่าวพรากผู้เยาว์ 3 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 1.9

น.ส.นิตยากล่าวอีกว่า ส่วนสถิติข่าวละเมิดทางเพศของคนในครอบครัวมีถึงร้อยละ 11.4 ซึ่งกระทำโดยพ่อ พ่อเลี้ยง ตา พี่ชาย พร้อมยกตัวอย่างกรณีพี่ชายแท้ๆ 3 คน ข่มขืนน้องสาวอายุ 12 ปีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่น้องสาวอายุ 9 ขวบ รวมทั้งพบว่าการละเมิดทางเพศนั้น ร้อยละ 38.6 มีความสัมพันธ์โดยเป็นคนรู้จัก เช่น เพื่อนบ้าน ข้างห้องเช่าหรือห้องพัก เพื่อน ครู อาจารย์กับลูกศิษย์ พระภิกษุ เป็นต้น รองลงมาเป็นคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 32.9 เช่น กลุ่มปล้นทรัพย์ แก๊งวัยรุ่นต่างๆ โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำอายุ 11-15 ปี มีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคืออายุ 16-20 ปี ส่วนอายุมากที่สุดคือ 89 ปี เป็นหญิงสูงอายุป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่อยู่บ้านเพียงลำพังและถูกเด็กชายอายุ 14 ปีข่มขืน ที่น่าตกใจคือผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุดเพียง 5 เดือน โดนพี่เลี้ยงข่มขืน ขณะที่อาชีพถูกกระทำมากที่สุดคือ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 46.9 รองลงมาคือ พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล ร้อยละ 3.4 และพนักงานบริษัทร้อยละ 2.8 ส่วนปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการละเมิดทางเพศร้อยละ 39.4 มาจากการดื่มสุรา

น.ส.อัญชนา สุวรรณานนท์ ด้าน น.ส.อัญชนา สุวรรณานนท์ ประธานกลุ่มอัญจารีเพื่อสิทธิหญิงรักหญิงกล่าวว่า พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะในกลุ่มหญิงชายเท่านั้น แต่ในกลุ่มหลากหลายทางเพศนับวันถูกกระทำมากขึ้นเช่นกัน เช่น ข่าวพ่อข่มขืนลูกสาว เพราะอ้างว่าลูกไปคบหากับทอม จึงต้องสั่งสอน หรือกรณีชายข่มขืนทอม โดยอ้างว่าจะให้กลับใจเป็นหญิง หรือแม้แต่การลวงทอมไปฆ่าเพราะมาจีบลูกสาวของตนเอง หรือกรณีข่าวกะเทยถูกข่มขืนขณะไปเรียนร.ด. และในบางกรณีผู้ที่กระทำไม่มีพฤติกรรมเป็นเกย์เสมอไป แต่กลับคิดแค่ว่าถ้ารังแกได้ก็จะทำ รวมถึงการกล่าวหาว่ากะเทยทุกคนมีความต้องการผู้ชายจึงต้องลงมือกระทำ เป็นผลทำให้ข่าวฆาตกรรมและการถูกละเมิดทางเพศของกลุ่มหลากหลายทางเพศเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สังคมกลับมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ทำให้คนกลุ่มนี้เผชิญกับความรุนแรงและต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

“ในปี 2550 มีการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 276 จากที่เขียนว่าการข่มขืนกระทำชำเราหมายถึงการที่อวัยวะเพศชายสอดใส่อวัยวะเพศหญิงที่ไม่ใช่เป็นภรรยาตน โดยตัดคำว่า ที่ไม่ใช่เป็นภรรยาตนออก หลังจากเปลี่ยนแปลงกฎหมาย สามารถคุ้มครองผู้หญิงและเพศอื่นๆ ด้วย เพราะการกระทำทางปาก ทางทวารหนัก หรือแม้แต่ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ถือเป็นการข่มขืนเช่นกัน ทำให้ผู้ที่ถูกกระทำสามารถใช้ข้อกฎหมายนี้ฟ้องร้องได้” น.ส.อัญชนา กล่าว 

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ขณะที่ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวว่า สถานการณ์ภัยคุกคามทางเพศที่ผ่านมา สังคมยังมีความเข้าใจผิด เพราะมองและตำหนิคนที่ถูกข่มขืนว่านุ่งสั้น ยั่วยวน ไปในที่เปลี่ยว และพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่จากสถิติเห็นชัดว่าคนที่ถูกข่มขืนหรือคุกคามมักอยู่ในบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ที่สำคัญสถานการณ์ถูกข่มขืนไม่ได้เกิดในที่เปลี่ยว แต่เกิดขึ้นในทุกๆ จุดของสังคมไทย และสิ่งที่สังคมควรตระหนักคือ อายุผู้ถูกกระทำก็น้อยลง การลงโทษผู้กระทำอย่างเดียวคงแก้ปัญหาไม่ได้ แม้มีโทษที่รุนแรง แต่สถานการณ์ความรุนแรงก็ไม่ลดลง ปัญหานี้จึงยังคงอยู่และยิ่งรุนแรง ดังนั้น ต้องแก้ที่รากทัศนคติ กลไกลในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำ

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวต่อว่า การ คุกคามทางเพศในสังคมไทยถือเป็นภัยเงียบ และไม่ควรไปกระทำซ้ำกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะทุกคนล้วนเจ็บปวดและต้องการเยียวยาคุ้มครอง ด้วยสังคมกว้างขึ้น หากไม่มีกลไกที่ดีคนถูกละเมิดก็จะอยู่ในซอกหลืบ ไม่มีใครเข้าไปเยียวยากล่าวถึง ก่อนนำไปสู่การเก็บตัวและมีปัญหาภาวะจิตใจ หรือนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด ดังนั้น คนในสังคมควรเคารพสิทธิกันมากขึ้น ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่แค่เรื่องของหญิงหรือชายเท่านั้น และปัญหาเหล่านี้ต้องนำออกมาสู่ที่สว่าง เปิดช่องปฏิรูปกฎหมายและรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เข้าใจคนที่ถูกกระทำ
    
 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code