สุขได้ ไม่แคร์อายุ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


สุขได้ ไม่แคร์อายุ thaihealth


แฟ้มภาพ


ไม่ใช่แค่เด็กๆ และคนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ต้องการพื้นที่แสดงออกความสามารถในเชิงสร้างสรรค์  แต่ผู้สูงวัยก็เช่นกัน สะท้อนผ่านภาพ ความสนุกครื้นเครงของบรรดาคุณลุงคุณป้า ที่ยังมีไฟและใจยังโจ๋ ที่มาร่วมสร้างความบันเทิงผ่านกิจกรรมดีๆ ในงาน "สังคมสูงวัย …ก้าวไปด้วยกัน" เวทีสาธารณะที่ชวนคนรุ่นใหญ่จับมือคนทุกวัยเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย อาทิ ไทยพีบีเอส ฯลฯ


แรงบันดาลใจจากบรรดา Active  Aging รุ่นใหญ่เหล่านี้ ถือเป็น "ยาชูกำลัง" ชั้นดีที่อาจทำให้ใครหลายคนลบคำว่า  "แก่" ออกไปจากใจ พร้อมเปิดมุมมองใหม่สู่สังคมว่า พื้นที่สร้างสรรค์ที่ผู้สูงวัยต้องการ มีมากกว่าการเข้าวัด และชมรมผู้สูงอายุ


ยังจำคุณป้านักดนตรีสุดเฟี้ยวที่ลุกขึ้นมาอัดคลิปร้องเพลง "Why Do I Love You So" จนโด่งดังในโลกโซเชียลได้มั๊ย? วันนี้ คุณป้า มาลินดา เฮอร์แมน หรือ "แม่ลิน" กับกีตาร์ตัวเก่ง ยังคงขยันมอบความสุขให้กับแฟนๆ แถมยังลุกขึ้นมาแต่งเพลง "สำราญเบิกบาน" สร้างแรงบันดาลใจ "ไม่ว่าวัยไหนๆ ก็คุยกันได้ผ่านเสียงเพลง"


สุขได้ ไม่แคร์อายุ thaihealth


สำหรับแม่ลินแล้ว ดนตรี และ โลกโซเชียลเป็นพื้นที่แสดงออกที่ไม่มีคำว่า ช่องว่างระหว่างเรา โดยคนสำคัญที่อยู่ เบื้องหลังคือลูกชาย "โน้ต" คีตะรัฐ  บุณยรัตพันธุ์ ที่ซื้อกีตาร์มาให้แม่ลินเอาไว้เล่นคลายเหงา และใช้วิธีการร้องเพลง เข้ามาช่วยกายภาพบำบัด บริหารใบหน้าที่ผิดรูปจากอุบัติเหตุรถคว่ำ


โน้ต เล่าว่า ปกติเวลาอยู่บ้าน เขาจะเป็นคนเล่นกีตาร์ให้คุณแม่ได้ร้องเพลง เอ็กเซอร์ไซส์หน้า แต่ช่วงหลังเนื่องจาก งานเยอะต้องเดินสายไปเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ จึงลองซื้อกีตาร์ให้คุณแม่ไว้เล่นเอง


นอกจากกีตาร์บำบัดแล้ว ลูกๆ ยังพยายามสรรหากิจกรรมอื่นๆ มาให้คุณแม่ได้ผ่อนคลาย ลดความเครียดหลังผ่าตัดใบหน้า ทั้งการฝึกเล่นโซเชียล แชทกับเพื่อนๆ คลายเหงา รวมถึงเปิดร้านอาหาร Hey Mom Bar ที่ตั้งใจเปิดเพื่อทำวงดนตรีร่วมกัน ให้คุณแม่ได้ร้องเพลงยุค 60-70 ขับกล่อมลูกค้าในร้านเป็นประจำยามค่ำคืน


แม่ลิน ยอมรับว่า ลูกๆ มีส่วนอย่างมาก ที่ช่วยให้ได้ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ พื้นฐานครอบครัวเราชอบเล่นดนตรีกัน อยู่แล้ว การได้ทำอะไรด้วยกันมีส่วนช่วยให้ เข้าใจกันมากขึ้น แต่ถึงจะเป็นคู่แม่ลูกที่สนิทกันแค่ไหน ก็ไม่ต่างจากทุกครอบครัวที่ต้องมีเรื่องไม่เข้าใจกันบ้างด้วยวัยที่ห่างกัน เพียงแต่เคล็ดลับของแม่ลิน คือ มองให้เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปมองว่าเป็นปัญหา


"อภัยให้กันดีกว่าค่ะ อยู่ด้วยกันบางที ก็ต้องมีขัดใจกันบ้าง" ว่าแล้ว แม่ลินจึง เผยถึงที่มาของการโพสต์คลิปเพลง "Why Do I Love You So"


"ตอนนั้นงอนกันอยู่กับลูกชาย  เฝ้ารอดูว่าลูกจะมากดไลค์เมื่อไหร่  พอได้คุยกันปุ๊บก็จบแล้ว ไม่มีอะไรติดใจกัน เราคือผู้ชนะ (หัวเราะ) ถ้าอะไรที่เรารู้ตัวเองผิดก็ต้องเป็นฝ่ายขอโทษลูกว่าแม่อาจร้อนไปหน่อย"


แม่ลิน เล่าว่า จากตอนแรกๆ ที่เคยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเล่นโซเชียล ไม่เอา สมาร์ทโฟน ยังไงฉันก็จะขอใช้ซัมซุงฮีโร่เครื่องเก่าที่โทรเข้าออกได้อย่างเดียว ไปๆ มาๆ หลังหัดเล่นได้แค่ 2 วัน เริ่มมีเพื่อน เริ่มหัดทำคลิป ทำอะไรเองได้  คราวนี้ลูกไม่ต้องมายุ่งแล้ว


หลายคนอาจมองว่า โซเชียลเป็นพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ แต่แม่ลินมองว่า "ไม่ว่าวัยไหนเราก็น่าจะคุยกันได้ โดยเฉพาะผ่านภาษาดนตรี ไม่เห็นจำเป็นต้องแบ่งว่า คนวัยนี้ต้องคุยกับวัยนี้เท่านั้น จะวัยไหนๆ  เราก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้  แค่เรายอมรับกันและกัน เท่านี้ก็มี ความสุขแล้ว"


ไม่เพียงแต่สื่อสารกับคนวัยเดียวกัน แต่เสียงดนตรีและโลกโซเชียล ยังกลายเป็นสื่อกลางมิตรภาพต่างวัยระหว่าง แม่ลินกับเด็กรุ่นใหม่


"เด็กๆ บางคนอายุแค่ 13-14 เราแก่กว่าเขาตั้ง 50-60 ปี แต่ก็ยังคุยกันได้  เขาบอกคุณย่าทักก่อน อินบ็อกซ์เข้ามา คุยกันว่าย่าลินสอนกีตาร์มั๊ย เขาอยากเรียน กลายเป็นว่าเด็กก็ติดเรา เราก็ติดเด็ก"  แม่ลินเล่าอย่างอารมณ์ดี


ใครหลายคนมักบอกว่า พอเข้าวัยเกษียณ ก็ให้ใช้ชีวิตเรียบง่าย อยู่บ้าน พักผ่อน เลี้ยงหลาน แต่นั่นไม่ใช่วิถีของฮิปสเตอร์ วัย 68 อย่างแม่ลิน ซึ่งมีมุมมองว่า รูปแบบ การใช้ชีวิตของใครก็ของคนนั้น อยากทำอะไรก็ทำไป ไม่จำเป็นที่เราต้องเหมือนใคร


"บางคนอาจมีความสุขกับการถักโครเชต์ แต่ของเราคือการได้ร้องเพลง เล่นดนตรี แค่ได้ร้องเพลงให้ลูกๆ หลานๆ ฟัง ก็มี ความสุขแล้ว อยากบอกทุกคนว่า อายุเท่าไหร่ ไม่ต้องสนใจ ถ้าเรายังทำอะไรได้ และ อยากทำก็ทำ ความสุขทางใจเป็นเรื่องที่มาก่อน เดี๋ยวร่างกายก็จะดี และแข็งแรง สองอย่างนี้ต้องไปคู่กัน เราต้องเป็นตัวของตัวเอง เพราะจิตวิญญาณเป็นของเรา" แม่ลิน ฝากแง่คิดการใช้ชีวิตถึงคนวัยเดียวกัน


สุขได้ ไม่แคร์อายุ thaihealth


มุมมองนี้ไม่ต่างจากแก๊งสาวชาวดอยแห่ง "ชมรมรวมใจแห่งมิตรจิตอาสา"  ที่สนุกสนานครื้นเครง เต้นเป็นหางเครื่องประกอบเพลงบนเวทีกันแบบมันส์ยกแก๊ง แทบไม่น่าเชื่อว่า สาวๆ วัยตั้งแต่หลัก 5 จนถึงหลัก 7 สุดแซ่บเหล่านี้ เคยเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมาก่อน โดยพี่ใหญ่ของแก๊งอย่าง อรวรรณ โอวรารินท์ ประธานชมรมรวมใจแห่งมิตรจิตอาสา และชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย (TBCC) เล่าว่า ที่เห็นพวกเราสดใสกันได้ขนาดนี้ เพราะถือว่าเป็นกำไรชีวิตที่เรารอดจากความเจ็บป่วยกันมาได้ โดยจุดเริ่มต้นที่มารวมตัวกัน เพราะทุกคนต่างเคยเป็นอดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมาก่อน เมื่อหายดีแล้ว จึงมาเป็นจิตอาสาภาคประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ  รวมตัวกันเป็นชมรมเพื่อทำกิจกรรมจิตอาสา เช่น กิจกรรมเย็บเต้านมเทียม แบ่งปันหมวก และวิกผม เยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ป่วย และจัดงานรณรงค์อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อให้คนในสังคมหันมาดูแลสุขภาพก่อนป่วย


อรวรรณ บอกว่า ความสุขที่ได้ช่วยเหลือ คนอื่นที่มีปัญหาสุขภาพให้เขาดีขึ้น ในที่สุด ก็ย้อนกลับมาเป็นความสุขให้กับตัวเอง


"เราถือว่าเราเป็นผู้มีประสบการณ์ มาแล้ว เมื่อรอดชีวิตมาได้ ถ้าอยากทำอะไรก็ทำเลย พวกเราชอบร้องรำทำเพลงกัน อยู่แล้ว ใครเชิญให้กับออกงานที่ไหน  ไปร้องเพลงให้ความสุขกับผู้ป่วย เราก็ไปร่วม สร้างสีสันให้ ไปเป็นหางเครื่องบ้าง ร้องคาราโอเกะบ้าง ทุกงานเราจะนัดกันใส่ชุด ชาวเขา นุ่งกระโปรงแม้ว เพราะชอบเหมือนกัน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม" แก๊งสาวเปรี้ยวแซ่บที่ยึดคติว่า ชีวิตมีไว้ใช้ เพื่อแบ่งปัน ความสุขให้กับตัวเองและผู้อื่น บอกเช่นนั้น


ความเฟี้ยวของรุ่นใหญ่ในงาน "สังคมสูงวัย…ก้าวไปด้วยกัน" ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ยังมีอีกหนึ่งโชว์ที่ต้องยกนิ้วให้กับเพลงรำเหย่ย ในสไตล์แร็พ จากกลุ่มผู้สูงอายุ ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี นำโดยสองคู่หู "แร็พป้า" อย่างสองคุณป้า บุษกร พรมมา และ ปัท มาลาพงษ์ วัย 66 ปี


"เราชื่อบุษกร พรมมา ถึงเป็นชาวนา ก็ร้องแร็พได้ เพลงเหย่ยเรากลับหันหลัง แต่ถ้าเพลงฝรั่ง หนูกลับสนใจ โย่ โย่" สองคุณป้าอารมณ์ดี โชว์ลีลาแร็พโย่ ที่แต่งเองร้องเองได้อย่างไม่มีเคอะเขิน เบื้องหลังโชว์แร็พป้าไม่แคร์วัยชุดนี้ มีที่มาจากได้รับคำชวนร่วมภารกิจท้าทายจากรายการ "The Senior รุ่นใหญ่หัวใจไร้ขีดจำกัด" ช่องไทยพีบีเอส โดยงานนี้ ทั้งสองครูเพลงพื้นบ้านได้รับโจทย์ ฝึกร้อง จำทำนอง ทดลองเขียนเนื้อสไตล์แร็พเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเชื่อมเพลงเหย่ย เอกลักษณ์ของชาวพนมทวนให้เข้ากับ เด็กยุคใหม่


"เด็กสมัยนี้ ถ้าบอกจะสอนเพลง เหย่ยปุ๊บ ไม่เอาเลย ไม่รู้จัก ร้องไม่เป็น พอทีมงานรายการตั้งโจทย์มาชวนให้แร็พ แรกๆ ก็คิดว่าจะไหวเหรอ" ป้าบุษ เล่า


สุขได้ ไม่แคร์อายุ thaihealth


แต่พอเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชิน จึงทำให้เห็นว่าศักยภาพของผู้สูงวัยมีมากกว่าที่คิด จากที่เด็กๆ เคยหันหลังให้ เพลงเหย่ย แต่เมื่อได้นำเพลงแร็พมา ผสมผสาน พร้อมทั้งเปลี่ยนลุคเป็นแร็พป้าสุดเฟี้ยวเข้าไปเท่านั้นแหละ กลายเป็นว่าคนสองวัยสามารถพูดภาษาเดียวกันได้


"รู้สึกดีใจ ปลื้มใจที่เราทำได้สำเร็จ และสามารถดึงดูดให้เด็กๆ หันมาสนใจ เพลงเหย่ยได้ พอมาเป็นแร็พ รู้สึกตัวพอง เหมือนอึ่งวางไข่ จากอายุ 66 รู้สึกเหมือนกลับมา 16 อีกครั้ง" ป้าบุษ เล่าติดตลก ถึงความรู้สึกเมื่อก้าวข้ามจากความคุ้นเคยเดิมๆ ไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ได้สำเร็จ


นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นว่าพลังของคนรุ่นใหญ่มีศักยภาพมากกว่าที่เราคิด ขอเพียงแค่เปิดพื้นที่ เปิดใจ ไม่ปล่อยให้คำว่า "แก่" สร้างกำแพงกั้นระหว่างวัย หรือปล่อยให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของเราโรยราอยู่กับบ้าน

Shares:
QR Code :
QR Code