สุขภาวะเพื่อ ‘แรงงานนอกระบบ’ สุขกระจาย รายได้เพิ่ม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ กทม. เปิดเวทีสมัชชาแรงงานนอกระบบ กทม. แลกเปลี่ยนมุมมอง “สุขภาวะแรงงานนอกระบบ : รวยกระจุก ทุกข์กระจาย vs สุขกระจาย รายได้เพิ่ม” เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างแรงงานผู้ประกอบอาชีพในชุมชน

นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ผู้ประกอบอาชีพในชุมชน (แรงงานนอกระบบ) ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับรถแท็กซี่ ตัดเย็บเสื้อผ้า หาบเร่แผงลอย ซาเล้ง โดย กทม. จะส่งเสริมและพัฒนาความมั่นคงในอาชีพรายได้ สุขภาพความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กทม. ดังนั้น กทม. จะนำข้อเสนอจากสมัชชาแรงงานนอกระบบ ไปหารือร่วมกับหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง คือสำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย ภายใต้สังกัด กทม. กระทรวงแรงงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตพื้นที่กรุงเทพฯ กระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ สสส. ตระหนักถึงคุณค่าของแรงงานนอกระบบซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยคิดเป็นร้อยละ 45.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (gdp) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้สนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบผ่านแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านอาชีวอนามัย การจัดการอาชีพ และสวัสดิการมาตั้งปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โดยปฏิบัติร่วมกับกลุ่มอาชีพที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่าง ๆครอบคลุม 10 เขตควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้จากกระบวนการทำงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ของทุกฝ่าย

ด้าน นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ  กล่าวถึงข้อเรียกร้องของแรงงานนอกระบบว่า 1.ให้สนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการเพื่อเสริมศักยภาพกระบวนการทำงานของหน่วยงาน องค์กรแรงงานนอกระบบ โดยคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และเสนอให้ กทม. ควรสมัครเข้าร่วมกองทุนสุขภาพท้องถิ่น และสมทบงบประมาณกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการดูแลสุขภาพแรงงานนอกระบบใน กทม. 2. เพิ่มโอกาสให้แรงงานนอกระบบ กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้เข้าถึงและใช้สิทธิและบริการตามนโยบายที่มีอยู่ของ กทม. และหน่วยงานภาครัฐ โดยต้องขจัดข้อจำกัดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 3. สนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายใหม่ เพื่อพัฒนากลไกและรูปแบบการเข้าถึงการคุ้มครอง ดูแล ตามสิทธิ และบริการที่เหมาะสม

แรงงานนอกระบบอาชีพขับรถแท็กซี่สาธารณะที่เข้าร่วมงานสมัชชา นายเขษมศักดิ์ มีสะอาด เล่าว่า การผลักดันให้มีบริการรักษาสุขภาพที่ฟรีให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่ทั่วไป โดยกรมอนามัยจัดให้มีการออกบัตรประกันสุขภาพให้โดย กทม. สามารถรักษาฟรีได้ที่อนามัย และโรงพยาบาลในสังกัดของ กทม. ถ้าทำในส่วนนี้ได้ถือว่าดีมากตนจะได้มีหลักประกันในสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงรายได้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย ในส่วนของข้อเรียกร้องต่อ กทม.ต้องการได้เงินทุนเพื่อมาเปิดอู่ซ่อมบำรุงรถแท็กซี่ โดยคิดค่าบริการเปลี่ยนอะไหล่ ค่าแรงที่ถูกลงกว่า 30-40% ให้บริการโดยกลุ่มทำงานเพื่อจิตอาสาที่ไม่ผ่านนายทุน เพื่อช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ ตอนนี้มีความพร้อมแล้ว กว่า 90%

 การประกอบการอาชีพโดยความสุจริตนั้น เป็นสิ่งที่ดีแล้วส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์ที่ดี มีสุขอนามัย สุขภาวะที่ดี ได้รับความปลอดภัย จะส่งผลต่อสถาบันครอบครัวเมื่อครอบครัวเข้มแข็งคนในสังคมก็มีต้นทุนที่ดีสามารถเป็นกำลังหลักของประเทศชาติได้ต่อไปภายภาคหน้า

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code