สุขภาวะที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ความร่วมมือทั้งสังคม
สุขภาวะที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ความร่วมมือทั้งสังคม
พูดคุยถึงเป้าหมายของ นพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. คนใหม่
“ผมอยากให้คนจดจำผมในฐานะที่มาทำงานใน สสส. แล้วเป็นผู้ที่ได้มีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ทุกคนอยากทำสิ่งดีงาม เพื่อเปลี่ยนแปลงสุขภาวะของคนในสังคม”
คำพูดนี้อยู่ในบทสนทนาของ นายแพทย์พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ หรือ หมอบอย ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. คนใหม่ ซึ่งหลังจากทักทายด้วยความเป็นกันเองแล้ว คุณหมอก็เริ่มต้นตอบคำถามถึงการเตรียมความพร้อมกับบทบาทใหม่อย่างยิ้มแย้ม
แน่นอนหากถามถึงภาพจำของ สสส. หลายคนคงมีมุมมองแตกต่างกันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรแห่งนี้ทำหน้าที่ดูแลเสริมสร้างสุขภาพในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีความแอ็กทีฟ พยายามปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคมอยู่เสมอ
ทว่าหลังจากนี้ สสส. ในการดูแลของคุณหมอบอยจะมุ่งไปในทิศทางไหน และ CEO คนใหม่จะนำพาองค์ความรู้ พร้อมกับความตั้งใจแบบใดมาปรับโฉมองค์กรให้เป็นที่จดจำของคนไทยทั้งประเทศ บทสนทนาหลังจากนี้คือคำตอบ
เวชศาสตร์ป้องกัน
ก่อนมารับตำแหน่ง คุณหมอเคยทำงานเวชศาสตร์ป้องกันมาก่อนที่ต่างจังหวัด อยากให้อธิบายหน่อยว่าศาสตร์นี้คืออะไร
คําว่า “ศาสตร์” คือ วิชา เวชชะ ทางด้านการแพทย์ “ป้องกัน” คือ การป้องกันโรค ดังนั้นมันคือการใช้วิชาทางการแพทย์ เพื่อมาใช้ในการป้องกันโรค ปกติถ้ามีคนไข้ หมอส่วนใหญ่ก็รักษาไป นี่คือหน้าที่ปกติ แต่หมอเวชศาสตร์ป้องกัน จะมองว่าต้องทำอย่างไรให้คนไม่เป็นโรค ดังนั้นสิ่งที่ต้องมีคือ วิธีคิดแบบสาธารณสุข มองสุขของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้ป่วยรายเดียว ต้องมองว่า จะทำอย่างไรให้คนในชุมชนไม่ป่วย ถ้าเขามีโรค เช่น มะเร็งตับหรือมะเร็งปอด ต้องไปดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เราก็จะพบว่ามันมาจากการกินเหล้าเยอะ สูบบุหรี่เยอะ เป็นต้น
จริงๆ แล้วการป้องกันที่ดีที่สุด ไม่ใช่การไปคัดกรองให้เจอแล้วรักษา แต่คือการไปแก้ที่พฤติกรรมของผู้ป่วย ทำให้เขาลดพฤติกรรมลง หรือไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมนั้น เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แล้วเขาก็จะไม่เป็นโรค ไม่ต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาล นั่นคือความสำเร็จของหมอวิทยาศาสตร์ป้องกัน
คล้าย ๆ กับเป้าหมายของ สสส. ที่อยากสร้างความตระหนักรู้ให้คนดูแลพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเองก่อน
ใช่ แต่เวลามองปัญหา เราจะมองอย่างเข้าใจนะ ไม่ใช่ไปโทษเขาว่า ทำไมเขาต้องไปดื่มเหล้า ไปสูบบุหรี่ ชีวิตลำบากอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปทำให้มันแย่ลงอีก เราต้องมองว่า ชีวิตคนเวลาที่อยู่ในภาวะลำบากอย่างการมีหนี้ มีปัญหาครอบครัว ต้องหาเงินส่งลูกเรียน บางทีเขาก็ต้องการความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้ชีวิตผ่านไปได้
แต่อย่างไรก็ดี การทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้เขาทุกข์มากขึ้นในระยะยาว มันก็เป็นหน้าที่ของหมอของบุคลากรทางการแพทย์ และรวมถึง สสส. ที่ต้องไปช่วยให้เขาเห็นว่า อันนี้คือคุณแค่ประทังมัน ยื้อมันนะ เพราะต้นทุนชีวิตคุณลดลงด้วย แล้วมันจะคุ้มไหมกับการที่คุณจะได้ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้ แต่สุดท้ายแล้วมันจะเป็นหนี้ พอกพูนดอกเบี้ย เป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ มะเร็งปอดในระยะยาวที่คุณต้องจ่าย เราก็ต้องทำให้สังคมเห็น
คุณหมอคิดว่าการป้องกันโรคมีความสำคัญกับประชาชนและประเทศอย่างไร
หมอที่ซ่อมสุขภาพก็สำคัญ แต่หมอที่ป้องกันโรคสำคัญกว่า ถ้าเราต้องการที่จะแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศ ยิ่งเรามีเทคโนโลยีมากขึ้น ใช้ทรัพยากรมากขึ้น คนอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็จะป่วยแบบยืดอายุ ดังนั้นการที่เราจะชวนให้เขามาสนใจการสร้างเสริมสุขภาพจึงสำคัญมาก เพราะนั่นอาจหมายถึงงบประมาณรักษาพยาบาล 400,000 ล้านบาทต่อปี
ถ้าเรายอมลงทุนกับการป้องกันโรค คนไม่ป่วยหรือป่วยน้อยลง แล้วทำให้คนบางกลุ่มดูแลตัวเอง และปลุกความเข้มแข็งของชุมชนให้ช่วยกันสื่อสารในการสร้างสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มาก เราต้องไม่ดูถูกพลังของชุมชนและสังคม เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลออกกฎหมายหรือใช้อำนาจบังคับการป้องกันโรคไม่ได้ มันต้องอาศัยพลังคนในสังคมทั้งหมดมาร่วมกันเปลี่ยนแปลง อันนี้แหละคือบทบาทของ สสส. ที่จะต้องสานพลังระหว่างพลังของภาครัฐภาคราชการ กับภาคประชาสังคมและประชาชน และรวมกับพลังของวิชาการ มหาวิทยาลัย และองค์ความรู้ต่างๆ ในการมาหลอมรวมกันขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์อย่างเหมาะสม
บทเรียนจากการทำงาน
แล้วหลักคิดอะไรที่คุณหมอใช้ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพกับชุมชนให้เขาหันมาฟังเรา
สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะเป็นศรัทธาและบารมี พออยู่ในชุมชน เราต้องให้สิ่งที่เขาต้องการก่อน เขาอาจอยากให้เรารักษาเขา เป็นหมอที่ดี พร้อมดูแล ยิ้มแย้มแจ่มใส พอเราเข้าไปอยู่ในใจเขา เขาจะมีความเชื่อที่มากขึ้น แล้วเราก็ให้ความรู้เขา คนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใคร ต้องมีความรู้ก่อน แต่จะให้เขาเชื่อจริงๆ ต้องเป็นคนที่เขาศรัทธาและเชื่อถือ พอในที่สุด เขาได้ลองทำแล้วรู้สึกว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น คนให้กำลังใจ เขาจะทำจนเป็นนิสัยได้
แต่คนที่ไม่เปลี่ยน ทำอย่างไรเขาก็จะไม่เปลี่ยนอยู่ดีหรือเปล่า
เราต้องเข้าใจและใจเย็น ในความเป็นจริง วิชาระบาดวิทยาจะบอกเลยว่า มันเป็นความสวยงามของธรรมชาติ เรียกว่าการกระจายแบบปกติ คือมีคนส่วนหนึ่ง อาจจะ 5-10 เปอร์เซ็นต์ที่พร้อมเปลี่ยนแปลง แล้วอยากเปลี่ยนแปลง แต่จะมีคนอีก 60 เปอร์เซ็นต์ตรงกลางที่รอก่อน ยังไม่ถึงเวลา และคนอีก 5-10 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า อย่ามายุ่งกับฉันเลย ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ ไปทำให้คนที่อยากเปลี่ยนแปลงก่อน แล้วเขาอาจจะเริ่มเปลี่ยนแปลง แล้วทำให้คนอื่นคล้อยตาม ส่วนตัวเราก็ต้องไม่ท้อ พยายามต่อไป ทุ่มกับกลุ่มที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง เราจะไม่เหนื่อยมาก และมีความสุขกับการเปลี่ยนแปลงของผู้คน ที่เราได้มีส่วนสำคัญในการทำให้เขามีสุขภาพที่ดีขึ้น
ทราบมาว่า คุณหมอเคยรับตำแหน่งผู้บริหารโรงพยาบาลตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่เคยบริหารจัดการคนมาก่อน ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ปรากฏว่าตอนนั้นเราก็มีแต่ความฝันและความท้าทาย อยากทำโรงพยาบาลให้ดี แต่บางทีใจร้อน ไปสั่งหมอทำนี่ทำนั่น แต่ไม่ได้เข้าใจปัญหาของเขา เขาอยู่มานาน บอกที่ทำนี่ไม่มีประโยชน์หรอก แต่เราบอกต้องทำ การบริการโรงพยาบาลต้องดีที่สุด ทำให้รักษาคนไข้ได้ดี ระบบต้องเป็นไปตามที่เราคิด เราเอาความคิดของเราเป็นที่ตั้ง ทีนี้ก็ถูกต่อต้าน และในช่วงแรก ผมก็เจอว่าทำไมชาวบ้านรักเรา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปลื้ม ก็ได้เรียนรู้ว่า มันเกิดจากการที่เราบริหารจัดการไม่เป็นนี่เอง เพราะการบริหารที่ดีต้องได้ใจทั้งชาวบ้าน ผลงานต้องดี เจ้าหน้าที่มีความสุขและศรัทธา แล้วอยากทำงานให้เรา
ผมไปปรึกษาอาจารย์ บุญยง วงรัตน์มิตร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน อาจารย์บอกหมอรู้หรือไม่ว่า ระหว่างอำนาจกับบารมีต่างกันอย่างไร อาจารย์บอกว่า คุณเป็นผู้อำนวยการ คุณมีอำนาจ แต่คุณยังไม่มีบารมี ถ้าคุณใช้อำนาจ คุณสั่งเขาหนึ่ง เขาจะทำให้คุณหนึ่ง แต่ถ้าคุณมีบารมี คุณสั่งเขาหนึ่ง เขาทำให้คุณสิบเลย เพราะเขาศรัทธาในตัวคุณ เขาเชื่อว่าคุณจะนำเขาได้ ผมเลยถึงบางอ้อ มันทำให้เรารู้ว่าเราต้องสร้างบารมี และเปลี่ยนวิธีคิดคน เพื่อทำให้เขามีอุดมการณ์ มีเป้าประสงค์เดียวกัน นั่นคืออยากทำสิ่งที่ดีให้ผู้ป่วยและชุมชน ตรงนี้แหละทำให้ผมเปลี่ยนวิธีคิด พยายามจะสร้างอุดมการณ์มากกว่าจะสั่งการ
อยากให้อธิบายถึงสิ่งที่ คุณหมอนำบทเรียนที่ได้รับมาปรับใช้กับการทำงานบริหารอย่างไรบ้าง
เราจะต้องบริหารจัดการ ทำให้คนรอบข้างมีความสุข ให้เขามีศรัทธา มีอุดมการณ์ อยากทำสิ่งที่เป็นความฝันเดียวกัน เราต้องสร้างความฝันขององค์กร ทำให้องค์กรขับเคลื่อนโดยที่ทุกคนอยากทำสิ่งดีงาม ทุกคนก็ได้รับคำชื่นชม รู้สึกภูมิใจว่าฉันเป็นคนสำคัญขององค์กร และตัวผู้นำเองก็มีความภูมิใจที่ได้ทำงานกับคนในองค์กรนั้น
สิ่งนี้เรียกว่า การสานพลัง ผู้นำต้องเป็นคนที่ไปสานพลังกับคนในองค์กร และสานพลังกับคนภายนอกองค์กร ทำให้ผลลัพธ์ของงานทวีคูณขึ้น ในฐานะที่มาทำงานที่ สสส. ผมจะพยายามมองว่าตัวเองมีจุดแข็งอะไร แล้วจะนำจุดแข็งนั้นไปปิดจุดอ่อนของคนอื่นได้อย่างไร แล้วเรามีจุดอ่อนอะไร จะอาศัยจุดแข็งของคนอื่นมาปิดจุดอ่อนเราได้อย่างไร แต่การจะทำสิ่งนี้ได้คือ เราต้องให้เกียรติและเห็นคุณค่าของความสำคัญของทุก ๆ คน ว่าทุกคนจะสามารถมารวมพลังกัน ทำให้ปัญหาต่างๆ นั้นแก้ไขได้ โดยไม่ใช่ว่าผู้นำเท่านั้นที่จะไปเปลี่ยนแปลงสังคม
เป้าหมายและภารกิจของ สสส.
คุณหมออยากให้คนทั่วไปมองภาพ สสส. ในยุคของคุณหมอเป็นแบบไหน
ในยุคสมัยของผม ผมอยากเห็นทุกคนมองว่า สสส. เป็นองค์กรที่สำคัญ ทำให้ชีวิตของเขายืนยาวขึ้น ทำให้เขาไม่ต้องติดเตียง ไม่ต้องพิการ ทำให้เขาสามารถมีสุขภาวะที่ดี ยืนยาวมากที่สุดเท่าที่เขาทำได้
เรามองว่า ทุกคนมีศักยภาพในการทำสิ่งนั้น ชุมชนและสังคมมารวมพลังกัน ทำให้คนอายุยืนยาวมากขึ้น บางทีแล้วเราอาจจะตั้งเป้าหมายผิดก็ได้ที่อยากเห็นประเทศเรารวยขึ้น มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ถ้าเราทำให้คนเชื่อว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้นคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราใช้พลังของทั้งสังคมมาเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ แล้วบอกว่า สุขภาวะที่ดีขึ้นคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นล่ะ อันนี้แหละจะสามารถทําให้เกิดสังคมที่เอื้ออาทร มองคุณภาพชีวิตของคนและสุขภาวะของคนสำคัญไม่น้อยกว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็นในช่วงชีวิตที่ทำงานใน สสส.
ที่ผ่านมา คุณหมอเคยทำงานในระดับนานาชาติมาไม่น้อย อยากทราบว่าตอนนี้ทั่วโลกเขาให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสุขภาวะกันขนาดไหน
นานาชาติให้ความสำคัญมาก องค์การอนามัยโลกถูกตั้งมาด้วยเหตุผลนี้ คือพยายามจะปกป้องผู้ป่วยและคนอื่นๆ จากปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้คนมีอายุยืนยาวและสุขภาวะที่ดีขึ้น ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงพยายามสร้างเครือข่ายต่างๆ ในการทำเรื่องส่งเสริมป้องกันโรค อย่าง สสส. เองก็มีเครือข่ายถึงเจ็ดประเทศ ในการที่จะทำงานร่วมกันสร้างสุขภาวะ และเรียนรู้ร่วมกัน
ความน่าสนใจคือองค์กรอย่าง สสส. ถือว่าเป็นองค์กรชั้นนำในการเป็นต้นแบบ หลาย ๆ เรื่องที่เราทำได้ดี โดยเฉพาะเรื่องชุมชน พอเราทำงานขับเคลื่อนสุขภาพ ปรากฏว่าทำงานอะไรก็สำเร็จ เพราะชุมชนเราเข้มแข็ง ในขณะที่สังคมโลกที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่เขาจะแยกกันอยู่ ต่างคนต่างอยู่ คนแต่ละคนไม่ได้มีอิทธิพลต่อบุคคลหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คน แต่คนในสังคมไทยยังมีความยึดโยงกัน ถ้าเกิดชุมชนมีค่านิยมไปทางไหน คนในชุมชนก็จะมีค่านิยมไปในทางนั้น ดังนั้น สสส. ก็ยืนอยู่ในบทบาทต้นแบบของโลก แล้วนำเรื่องดี ๆ ของเราไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเอาเรื่องดี ๆ ของที่อื่นกลับมาพัฒนาในประเทศไทยด้วย
ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจว่า สสส. ทำอะไรหรือเห็นขัดแย้งด้วยซ้ำ ในฐานะผู้นำองค์กร คุณหมอจะทำอย่างไรกับตรงนี้
เราต้องพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีคิด พยายามที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เขามีสุขภาวะที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เราอยากให้เขาจดจำ สสส. ในฐานะเพื่อนที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เขามีสุขภาวะที่ยืนยาว เป็นมิตรที่มีความปรารถนาดี
ถึงแม้ว่าวันนี้เขายังไม่อยากเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่วันหนึ่งเขาจะคิดถึงเรา เมื่อถึงวันนั้นเขาก็อาจพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความเปลี่ยนแปลงอยู่ในสมอง อยู่ในจิตใจ เมื่อเริ่มมีการบ่มเพาะที่เหมาะสม ได้น้ำ ได้ปุ๋ยที่เพียงพอ เมื่อเขาเริ่มป่วยเล็กน้อย เจ็บหน้าอก เริ่มคิดว่าเขาจะอยู่กับลูกหรือคนที่รักได้ยาวนานแค่ไหน วันนั้นแหละคือวันที่ สสส. พร้อมเป็นเพื่อนที่ดี ที่จะให้ทั้งความรู้ เป็นที่ปรึกษา และมีแอปพลิเคชัน อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยให้เขามีอายุยืนยาวที่สุด
ทำงานด้านนี้มากว่า 30 ปี อะไรคือความฝันสูงสุดของคุณหมอ
ที่ผมกำลังจะตอบอาจไม่ใช่ความฝันสูงสุดนะ เพราะความฝันสูงสุดของผม ความหมายอาจจะเป็น การที่คนมีสุขภาวะยืนยาว แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า นี่เป็นโลกมนุษย์ ไม่ใช่สวรรค์ ไม่มีทางหรอกที่จะไม่มีความยากจน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ สุขภาวะคนยืนยาวเป็นเทวดาหมดเลย คงเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น ความฝันที่เกิดขึ้นคือ เราจะใช้บทบาทของเรา ความสามารถของเรา ชีวิตของเรา ความทุ่มเทของเรา ในการการทำงานให้ดีขึ้นในทุก ๆ วันได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องสนใจผลลัพธ์หรอก แค่สนใจว่าวิธีการถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ควรทำ แล้วเราก็คาดหวังว่ามันจะงอกงาม จะพัฒนา แล้วเดี๋ยวมันจะถึงปลายทางในวันใดวันหนึ่งเอง
ก่อนจากกัน ถ้าให้คุณหมอนิยามสิ่งที่ สสส. ทำอยู่ในสามคำ จะเป็นคำว่าอะไรบ้าง
สานพลัง สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข
ทำไมถึงต้องเป็นสามคำนี้
สานพลัง ความหมายคือปัญหาสุขภาพทุกวันนี้มันซับซ้อนมากเกินกว่าที่เราจะแก้ได้ ต้องนำทุกส่วนมาร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาสุขภาพของคนไทยอย่างจริงจัง
ส่วนสร้างนวัตกรรม คือเราต้องหาวิธีการใหม่ๆ ต้องทดลอง ลงมือทำ แล้วดูว่าจะขยายผลอย่างไรให้สำเร็จให้ได้
และสุดท้ายคือ สื่อสารสุข หมายความว่าสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นจากสองส่วนข้างต้นนั้น เราจะสื่อสารอย่างไรให้ทุกคนเห็นและพร้อมใจกันทำ เพื่อให้คนไทยมีอายุยืนยาวและไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้