“สุขภาวะทางเพศ” เรียนรู้ได้…

แนะผู้ปกครองสอนลูกอย่างถูกต้อง-รับผิดชอบ

 

 “สุขภาวะทางเพศ” เรียนรู้ได้…

          “ความสุข” เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ไม่เคยถูกจำกัดด้วยเพศ วัย ชนชาติ “สุขภาวะทางเพศ” ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนล้วนต้องการเช่นกัน

 

          แผนงานสร้างเสริมภาวะทางเพศ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ได้ดำเนินงานผลักดันวาระการสร้างสุขภาวะทางเพศขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสุขภาวะทางเพศไม่ได้มีความหมายแคบๆ แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่มีความหมายลึกซึ้งและมิติที่กว้างกว่านั้น

 

          เรื่องเพศ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อตัวร่างกาย แต่ยังหมายถึงความรับผิดชอบ การดูแลสุขภาพร่างกาย การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน การเคารพสิทธิกันและกัน และความเท่าเทียม เพราะสังคมนั้นมีความหลากหลายทางเพศมากกว่าแค่หญิงหรือชาย

 

          ผู้ที่มีสุขภาพทางเพศที่ดีก็จะปฏิบัติต่อคนที่มีวิถีทางเพศแตกต่างจากตัวเองด้วยความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นสาวประเภทสอง หญิงรักหญิง ชายรักชาย หรือผู้ที่รักสองเพศ และยังปฏิบัติกับเพื่อนคู่รักหรือชาย  ที่สำคัญคือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและตนเอง ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย

 

          สังคมจำเป็นต้องลบความคิดทางลบว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรก อันตรายที่ต้องหลีกให้ห่าง แต่ความจริงเราจำเป็นต้องศึกษา เรียนรู้ให้เข้าใจ เพราะเรื่องเพศเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกอย่างอิสระ มีความสุขบนพื้นฐานของความปลอดภัย เพื่อดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นสุข

 

          แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ได้จัดทำความรู้สุขภาวะทางเพศในแต่ละช่วงวัยไว้ เพราะแต่ละช่วงวัยก็จะมีความสนใจและความต้องการต่างกัน

 

          ในวัยเด็กเป็นช่วงแห่งการสร้างพื้นฐานสุขภาวะทางเพศที่ดีได้ เด็กเล็ก อายุ 5 – 8 ปี เริ่มรับรู้ได้ถึงบทบาททางเพศว่าสังคมสร้างให้หญิงชายมีความแตกต่างกัน ด้วยกิจกรรม ด้วยการกำหนดกรอบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ชายทำได้ หญิงทำไม่ได้ หญิงทำได้ ชายทำไม่ได้ ซึ่งขัดขวางพัฒนาการและสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้เด็ก

 

          หากลบกฎเกณฑ์ทิ้ง ลองให้เด็กหญิงได้ปีนป่าย เล่นซน ร่างกายทุกส่วนก็ได้รับการพัฒนา แถมยังสร้างความมั่นใจและความกล้าได้ ลองให้เด็กชายได้เรียนรู้ที่ละเอียดอ่อนบ้าง เช่น ธรรมชาติ ไม่ใช่เล่นแต่สิ่งที่รุนแรงอย่างปืนหรือดาบ ก็พัฒนาจิตใจที่ละเอียดอ่อนขึ้นได้

 

          ที่สำคัญ ไม่ว่าเด็กชายหรือหญิง ก็ต้องถูกสอนเรื่องความรับผิดชอบเหมือนๆ กัน เช่น การเก็บข้าวของส่วนตัว ช่วยเหลืองานบ้านตามวัย รวมทั้งสอนให้เด็กได้รู้ว่าเขาเป็นเจ้าของร่างกายตนเอง มีสิทธิที่จะปฏิเสธการจับต้องเนื้อตัวร่างกาย หรืออวัยวะเพศได้

 

          เลิกกดดันเด็กอย่างผิดๆ เช่น ผู้ชายร้องไห้ไม่ได้ผล คือ เด็กเข้มแข็งแต่ภายนอก แต่จิตใจเปราะบาง เรียนรู้ผิดๆ ว่าต้องใช้ความก้าวร้าวถึงจะเป็นผู้ชายเต็มตัว

 

          วัยแรกรุ่น อายุ 9 – 12 เป็นช่วงวัยที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งช่วงนี้เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและพร้อมใช้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่จะเข้าสู่วัยรุ่นได้อย่างสวยงาม จำเป็นต้องเข้าใจและอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นและเปิดโอกาสให้เด็กรับผิดชอบในครอบครัว ให้เด็กได้ตัดสินใจด้วยตัวเองและรับผิดชอบผลที่จะตามมา ไม่ใช่ตัดสินใจแทนทุกอย่าง

 

          เด็กวัยนี้เริ่มที่จะมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และความรู้สึกทางเพศ ไม่ใช่เรื่องผิดแต่การให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็น การตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะที่ควรเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม

 

          เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงอายุ 13 – 18 ปี ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน จำเป็นที่ต้องได้รับข้อมูลเรื่องเพศอย่างถูกต้องและรอบด้าน เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ทั้งด้านกาย ใจ และอารมณ์

 

          จำเป็นต้องสร้างทักษะของเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยร่วมไปกับความรับผิดชอบ เพื่อให้สามารถแยกแยะได้ว่าเซ็กซ์ไม่ใช่แค่เรื่องสนุก แต่มีผลที่จะตามมาอีกมากมาย การให้ความรู้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำให้เรื่องเซ็กซ์เป็นความผิด ละอาย ทำให้เกิดเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบขึ้นได้

 

          ผู้ใหญ่จำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ว่าต้องใช้เวลาในการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ความภาคภูมิใจในตัวเอง จึงสามารถมีเพศสัมพันธ์ที่มีความปลอดภัยและเป็นสุขได้ “การให้ข้อมูลไม่ได้เป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่เป็นการสร้างความเข้าใจและทักษะในชีวิตให้เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจและมีความรับผิดชอบได้”

 

          หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อขอรับเอกสารได้ที่ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ หรือมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) โทรศัพท์ 02-591-1224-5

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ: อินเทอร์เน็ต

 

 

Update 19-05-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code