สุขภาวะทางเพศปลอดภัย แค่ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

เรื่องโดย  อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก กิจกรรม “CondomLand” มหัศจรรย์แดนถุงยาง ท่องอาณาจักรสุขภาวะทางเพศปลอดภัย

ภาพโดย ภัณฑิรา แสวงดี Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                  ความรักควรมาพร้อมกับความรับผิดชอบ และมีการปฏิบัติที่ปลอดภัย…หยุดความเชื่อผิด ๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อสุขภาวะทางเพศ ใส่ถุงยางไม่ฟิน ถุงยางฟรีไม่เริ่ด พกถุงยางเป็นเรื่องหน้าอาย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์

                  ข้อมูลของ “องค์การอนามัยโลก (WHO) ” พบว่าในเวลานี้มีผู้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าหนึ่งล้านคนทั่วโลก ซึ่งมีแต่การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอเท่านั้น ที่จะช่วยลดตัวเลขความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงลงได้

                  สอดรับกับข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปี พ.ศ. 2565 ไทยมีอัตราการคลอดบุตรของเพศหญิงช่วงอายุ 10–19 ปี จำนวน 42,457 คน หรือเฉลี่ยวันละ 116 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงไวรัสตับอักเสบบีและซีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

                  นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในโอกาสที่ สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจัดกิจกรรม “CondomLand” มหัศจรรย์แดนถุงยาง ท่องอาณาจักรสุขภาวะทางเพศปลอดภัย เนื่องในวันแห่งความรัก ประจำปี 2567 ชูแนวคิด “เรียนรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศปลอดภัย สำหรับคนรุ่นใหม่ทุกวัย” ณ ศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย ว่า

                  “เราต้องสร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนไทยมีสุขภาวะทางเพศที่ปลอดภัย ทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงถุงยางอนามัยได้ง่ายขึ้น ซึ่งสสส. เองไม่ได้สนับสนุนให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ แต่มองว่าการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่เลือกว่าจะเป็นในเดือนแห่งความรัก หรือในช่วงเวลาอื่น ๆ จึงควรบอกกล่าวให้เยาวชนต้องรู้วิธีป้องกัน เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการท้องไม่พร้อมอย่างถูกวิธี”

                  สสส. จึงเดินหน้าสานพลังภาคีเครือข่าย รณรงค์สร้างทัศนคติและสร้างเสริมความรู้ให้สังคม ชุมชน โรงเรียน ควบคู่กับการกระตุ้นให้พ่อแม่สื่อสารเชิงบวกเรื่องเพศกับลูก ได้เห็นความสำคัญถึงการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของสุขภาพ นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                  เปิดข้อมูลผลสำรวจจาก กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในการเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยของเด็กและเยาวชน ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 1– 31 ม.ค. 2567 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 15,425 คน เป็น ชาย 6,685 คน หญิง 7,926 คน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 814 คน พบว่า…

                  เด็กและเยาวชน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเฉลี่ย 16.5 ปี และอายุต่ำสุดที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก อายุ 12 ปี  พบกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่ง เคยมีเพศสัมพันธ์ 7,847 คน ในจำนวนนี้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ร้อยละ 43 ใช้บางครั้งและเกือบทุกครั้ง ร้อยละ 33 และไม่ใช้เลย ร้อยละ 24

                  ในวงเสวนา ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์การติดเชื้อ HIV ในเด็กและเยาวชน รวมถึงท้องไม่พร้อม ตัวเลขตั้งแต่ปี 2554 จนถึง 2564 ใน 10 ปี มีคุณแม่ท้องวัยรุ่นอายุ 10 – 19 ปี รวม 1,031,972 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากเรื่องสุขภาวะทางเพศเป็นเรื่องที่ป้องกันได้

                  อีกหนึ่งข้อมูลของตัวเลขการติดเชื้อ HIV ในปีที่ผ่านมา พบ 9,000 คน และใน 4,000 คนเป็นเยาวชน บ่งบอกได้เลยว่า HIV ไม่เลือกอายุ ไม่เลือกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะ One Night Stand หรือ Many Night Stand

                  “เรามีการสำรวจข้อมูลความสูญเสียของคุณแม่วัยรุ่นหนึ่งคนที่มีอายุ 10-19 ปี เมื่อตั้งท้องส่วนใหญ่จะถูกให้ออกโรงเรียน ทำต้นทุนชีวิตเสีย ยกตัวอย่างเรื่องเงินเดือนจะหายไปอย่างน้อยเนี่ย 5000 กว่าบาท หรือหางานทำได้ยากขึ้น จะทำยังไงให้คุณแม่วัยใสได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถจัดการชีวิตตนเองได้”

                  จากสถานการณ์ข้างต้น อยากสะท้อนให้เห็นว่าการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีอยู่จริง หรือแม้กระทั่งการติดเชื้อติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ล้วนเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และอาจจะเป็นคนที่เรารู้จัก

                  “ฉะนั้น สสส. และภาคีเครือข่ายเองจะต้องเร่งทำงานขับเคลื่อนการสื่อสารเรื่องเพศให้เป็นเป็นเรื่องมาตรฐานของสังคม พูดได้ในครอบครัว  เพื่อให้เกิดความเชื่อใจถึงถุงยางอนามัย อุปกรณ์ใกล้ตัวที่มีความปลอดภัย เป็นตัวช่วยง่ายที่สุด ราคาถูกมากเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ป้องกันชนิดอื่น” ดร.ชาติวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

                  ในฐานะภาคีเครือข่าย นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา หัวหน้าศูนย์ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 เล่าให้ฟังว่า รับปรึกษาเรื่อง HIV มาตั้งแต่ปี 2534 และได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ให้เปิดรับปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อมมากว่า 10 ปี ในแต่ละปีจะมีคนโทรมาปรึกษาประมาณ 50,000 คน ใน 10,000 คน เป็นเรื่องเอชไอวีเอดส์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องท้องไม่พร้อมประมาณ 40,000 คน ซึ่งใน 40,000 คน มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 10,000 คน

                  ยกเคสตัวอย่าง เด็กผู้ชายอายุ 15 โทรมาปรึกษาเรื่องเจ็บอวัยวะเพศ ว่า เพิ่งมีเพศสัมพันธ์กับแม่บ้านและไม่ได้ใส่ถุงยางเพราะคิดว่ายังไม่เหมาะ จากเคสนี้ทำให้เห็นว่าการให้ความรู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนเพื่อมีเกราะป้องกันที่ดี  เพราะถุงยางไม่ใช่เรื่องของเพศใดเพศหนึ่ง และการมีเซ็กซ์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ทุกความสัมพันธ์ควรเป็นความรักที่ปลอดภัย การมีความรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

                  อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในวงเสวนาจบลงด้วยการสรุปถึงข้อดี เมื่อใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง…สามารถป้องกันโรค ป้องกันท้อง  ใส่ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคน ทุกช่องทาง  แสดงถึงความรัก ใส่ใจต่อคู่ เพิ่มความมั่นใจในกิจกรรมรักแบบปลอดภัย ทน นาน ใช้งานง่าย พกพาสะดวก ตอบโจทย์ทุกกลุ่มวัย

                  สสส. ชวนสร้างสุขภาวะทางเพศปลอดภัย พกถุงให้เป็นนิสัย ใช้ถูกวิธี ลดเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และท้องไม่พร้อม ส่งเสริมทัศนคติการใช้ถุงยาง ให้เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

                 วันไหน ๆ วันอะไรก็สำคัญ “คนจะรักกัน” ไม่ใช่แค่วันวาเลนไทน์…“ถุงยางก็เช่นกัน” ใช้ได้ทุกวันไม่ต้องรอวันพิเศษ “ ใส่เถอะ Safe SEX นะ”

Shares:
QR Code :
QR Code