สุขภาวะดีที่ยั่งยืน ด้วยวิถีชีวิตที่พอเพียง
พัฒนา วิจัยชีวิตครอบครัวจนเกิดสุขภาวะดีทั้งกาย ใจ
โดย นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร
รพ.อุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 40250
โทร. 043 446 112-3
ผมเป็นหมอที่โชคดีได้มีโอกาสเรียนรู้จากชาวบ้านเก่ง ๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ท่านอาศัยการพัฒนาและวิจัยชีวิตครอบครัวและชุมชนบนวิถีชีวิตที่พอเพียงจนเกิดสุขภาวะดีทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคมและทางปัญญา
เมื่อผมจบเป็นหมอใหม่ ๆ ผมไปใช้ทุนอยู่ที่อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น 1 ปี และไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ตั้งแต่ 1 เมษายน 2529 จนถึงปัจจุบัน ช่วงแรกผมหลงทางเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจตาโต คือเห็นเงินแล้วตาโต โดยระบบนี้บอกผมว่าถ้ามีเงินมากก็จะมีความสุขมาก ถ้ามีเงินน้อยความสุขก็จะน้อยตามไปด้วย ดังนั้นถ้าอยากมีเงินมากหมอก็จะต้องมีคนไข้มาก ๆ หมอต้องบอกคนไข้ว่า “เป็นอะไรรีบไป หาหมอ” ด้วยวิธีคิดเช่นนี้และทำวิธีทำเช่นนี้โรงพยาบาลน้ำพองที่ผมเคยอยู่ในปี 2528 และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ที่ผมเป็นหมอเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลจึงเต็มไปด้วยคนไข้ทั้งคนไข้ในและคนไข้นอกเวลาราชการ รายจ่ายของโรงพยาบาลก็สูงขึ้น รายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มก็ไม่เพิ่ม เพราะทางราชการก็มีงบประมาณจำกัดส่วนชาวบ้านก็มีฐานะยากจนขอเรียกเก็บ 1,000 บาทก็มีจ่าย 50 บาท หนี้สินก็ค่อย ๆ พอกพูน เงินออมของโรงพยาบาลก็ค่อย ๆ ลดลง สุขภาวะของหมอ และพยาบาลรวมทั้งบุคลากรทุกระดับเริ่มแย่ลงจึงไม่ต้องพูดถึงสุขภาวะของชาวบ้านที่ผมและคณะดูแลอยู่จะดีขึ้นได้อย่างไร
โชคดีในปี 2536 ผมและคณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์จำนวนหนึ่งได้มีโอกาสไปเรียนรู้จากชาวบ้านเก่ง ๆ ซึ่งคุณอเนก นาคะบุตร ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก และศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เรียกชาวบ้านเก่ง ๆ เหล่านี้ว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” เพราะท่านเหล่านี้พัฒนาและวิจัยชีวิตจนสามารถหลุดออกจากวิกฤตทั้งด้านเศรษฐกิจที่มีรายจ่ายสูง หนี้มาก รายได้ต่ำ และเงินออมไม่มี เว้นวรรควิกฤตทางสังคมที่ครอบครัวแตกกระจาย ชุมชนล่มสลาย วิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ที่ดินเลว น้ำแล้ง ป่าหมด มลภาวะมากมายและวิกฤตด้านวิถีชีวิตที่อด ๆ อยาก ๆ พึ่งตนเองไม่ได้และพึ่งพากันเองลำบาก โดยปราชญ์ชาวบ้านเหล่านี้เปลี่ยนสิกฤตเป็นโอกาสหันมายึดแนวทางชีวิตที่พอเพียงจนมีรายจ่ายลดลงรายได้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น หนี้สินค่อย ๆ ลดลง เงินออมค่อย ๆ เพิ่มขึ้น มีสิ่งแวดล้อมดีขึ้น คือ มีดินดำ น้ำชุ่ม ป่าอุดมสมบูรณ์ ปลอดมลภาวะจากสารเคมีฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี มีครอบครัวที่อบอุ่นและชุมชนเข้มแข็ง มีวิถีชีวิตดีขึ้นจนกลายเป็นคนมีอยู่มีกิน มีเพื่อน มีเงิน มีปัญญาในการแก้ปัญหาและที่สำคัญที่สุดคือมีคุณงามความดี มีคุณธรรม มีจิตสาธารณที่อยากเห็นญาติสนิทมิตรสหายและพี่น้องคนไทย รวมทั้งเพื่อนร่วมโลกดีขึ้นแบบพวกเขาบ้าง
เมื่อตามไปเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านเหล่านี้อย่างจริงจัง จริงใจและต่อเนื่องมา 14 ปี ทำให้ผมได้เคล็ดวิชาของการ “สร้างสุขภาวะดีที่ยั่งยืนด้วยวิถีชีวิตที่พอเพียง” ซึ่งพบว่าทำได้โดยใช้หลักธรรมะ 4 อ คือ “อริยสัจ 4” ด้วยการหาข้อมูลมาสกัดเป็นปัญหาหรือ “ทุกข์” จัดลำดับความสำคัญของปัญหาหรือ “สมุทัย” หาทางเลือกในการดับทุกข์หรือ “นิโรธ” และวางแผนการปฏิบัติการเพื่อดับทุกข์ให้หมดไปหรือ “มรรค” ในขั้นนิโรธและมรรคอาศัยหลัก “อัตตาหิอัตตาโนนาโถ” ด้วยการพึ่งตนเองบนหลัก 3 ประการ คือ ให้รู้จักตนเอง ถึงความพอดี พอประมาณตามศักยภาพของตนไม่โลภมาก ให้รู้จักใช้เหตุผลในการใช้จ่ายและในการใช้ชีวิตซึ่งจะช่วยให้มีเงินเหลือ มีเวลาเหลือ มีเวลาเหลือ และมีกัลยาณมิตรเหลือ และให้รู้จักการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการออม ทั้งการออมน้ำ ออมดิน ออมสัตว์ ออมต้นไม้ยืนต้นที่หลากหลาย ออมเงิน สั่งสมกัลยาณมิตร สั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาและสั่งสมคุณงามความดี ด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาเป็น “อ” ที่ 3 รวมทั้งอาศัยธรรมะ “อ” ที่ 4 คือ อปริหานิยธรรม
ซึ่งเป็นธรรมะแห่งความเจริญ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าสังคมใดอยากจะเจริญต้องหมั่นประชุมกันเป็นนิจ เริ่มประชุมและเลิกประชุม พร้อมทำกิจที่พึงกระทำโดยพร้อมเพรียงกัน ผลลัพธ์สุดท้ายด้วยการปฏิบัติธรรมตามหลัก “4 อ” ร่วมกับการใช้ธรรมะคือธรรมชาติ ด้วยการรักธรรมชาติ ทำแบบธรรมชาติ ให้สรรพสิ่งเกื้อกูลกัน ทำจากเล็กไปหาใหญ่ ทำจากง่ายไปหายาก ไม่นานเกินรอชีวิตก็เปลี่ยนไปจนมีอยู่มีกิน มีเพื่อน มีเงิน มีความสุข จากการมีหลักประกันในชีวิตเพิ่มขึ้น มีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความภาคภูมิใจ มีอิสรภาพ และมีความสามารถในการอยู่ร่วมกับสรรพสิ่ง ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทั่วประเทศทำใด้เพราะเรามีดิน มีน้ำ มีแสงแดดเหลือเฟือทำให้มีอาหารและสมุนไพรปลอดสารเคมีหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ซึ่งอาหารและสมุนไพร ปลอดสารเคมีจะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมชุมชน ธุรกิจชุมชนและการเงิน การคลังชุมชน
“หลงทางเสียเวลา หลงคนชรามีอนาคต” ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงว่าระบบเศรษฐกิจตาโต ไม่เพียงทำให้ผม ครอบครัว โรงพยาบาล และชาวบ้านแย่ลง ทั้งทางการ ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา แต่รับเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ปวงชนชาวไทยนำไปปฏิบัติ ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่ายได้น้อมรับไปปฏิบัติจนเกิดเป็นรูปธรรมที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และได้นำไปขยายผลทั่วประเทศ ซึ่งผมและคณะได้นำมาขยายผลในอำเภออุบลรัตน์อย่างค่อยเป็นค่อยไปจนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์และชาวบ้าน เพราะไม่เพียงแต่มีความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน แต่ยังมีทั้งความรัก ความปรารถนาดี รวมทั้งทุกคนที่มาเรียนรู้ด้วยกันต่างก็มีความหวัง มีความฝัน และมีแผนปฏิบัติการณ์ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกเดือนและมาสรุปบทเรียนกันทุกปี เพื่อช่วยกันสร้างสุขภาวะดีที่ยั่งยืนด้วยวิถีชีวิตที่พอเพียงให้ครอบคลุมทุกครอบครัวในอำเภออุบลรัตน์ ซึ่งจะช่วยให้ชาวอำเภออุบลรัตน์มีเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตที่ดี รวมทั้งมีสุขภาวะดี ทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา ไม่เจ็บป่วยจนต้องมาโรงพยาบาล และเมื่อเจ็บป่วยจนต้องมานอนโรงพยาบาลอุบลรัตน์ก็มีปัญญาที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตรงพยาบาลอุบลรัตน์ดูแลคนไข้ได้อย่างสุดความสามารถ
สำหรับท่านที่สนใจ ชาวอำเภออุบลรัตน์ ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่านที่สนใจที่จะไปขยายผลในอำเภออื่น จังหวัดอื่น รวมทั้งในประเทศอื่น โดยสามารถติดต่อนัดหมายมาได้ตามที่อยู่ข้างต้น
สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:23-07-51