สุขภาพเด็กกรุงเทพฯ ‘สตรอง’ ด้วยหลักสูตรยุค’ฮอร์โมน’
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
เด็กๆ หลายคนอาจไม่คิดว่าด้วยอิทธิพลจากเทคโนโลยีอันทันสมัยนี้ จะส่งผลให้เราขาดกิจกรรมทางกายและเกิดภาวะติดหน้าจอได้ บวกกับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ปัจจุบันนี้เด็กไทยประสบกับปัญหาด้านสุขภาพมากมาย อย่าง โรคอ้วน โรคสมาธิสั้น สายตาสั้น ภูมิแพ้ ขาดสารอาหาร และการเติบโตล่าช้า โดยเฉพาะกับโรคอ้วนแล้วถือเป็นสิ่งที่เด็กไทยกำลังเผชิญปัญหาเป็นลำดับต้นๆ ทีเดียว
และจากข้อมูลของกรมอนามัย เปิดเผยว่าในปี 2558 เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทย เป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนที่สูงขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของเด็กธรรมดา ขณะที่วัยเรียนมีสัดส่วน 2 ใน 10 โดยเฉพาะในวัยเรียนอ้วน 20-25% จะเห็นได้ว่าไทยมีอัตราเด็กเป็นโรคอ้วนเร็วที่สุดในโลก ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้เด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้น 36% และวัยเรียน 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นถึง 15.5% ซึ่งโรคอ้วนนี้จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย สติปัญญาและจิตใจ หากไม่เตรียมป้องกันตั้งแต่วัยเด็กย่อมส่งผลเสียในอนาคตอย่างแน่นอน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการ "เด็กกรุงเทพฯ สุขภาพดี แบ็งค็อก เฮลธ์ตี้ คิดส์" เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้กับเด็กและเยาวชนในช่วงวัยต่างๆ ให้มีภูมิคุ้มกันความรู้ด้านสุขภาพให้กับเด็กๆ ในสังกัด กทม. จำนวน 438 โรงเรียน โดยจัดงานแถลงข่าวโครงการ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ โดยได้ ดร.ผุสดี ตามไทรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานเปิดงาน
ดร.ผุสดี ตามไท เผยว่า เรื่องของสุขภาวะถือเป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่เกิดยันสูงวัย ซึ่งเด็กหลายคนอาจละเลยในประเด็นนี้ไป เด็กที่ผอมอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนได้ในอนาคตหากไม่ระมัดระวัง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยไม่เคยประสบปัญหานี้มาก่อน
"สมัยนี้มีอาหารขยะต่างๆ มากขึ้น จึงต้องเร่งศึกษาและกระตุ้นให้เกิดองค์ความรู้เรื่องนี้ ให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ รู้ตัว จัดการกับปัญหาให้เกิดสุขภาพดี เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของทุกคน" ดร.ผุสดีย้ำสำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการ
ดร.เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เผยว่า นับตั้งแต่ตั้งสสส.มา 14 ปี ได้มีการผลิต วิจัย จนมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพมากมาย ทำให้มีองค์ความรู้เชิงวิชาการ ที่พร้อมจะถ่ายทอดสู่คนภายนอกให้ได้ตระหนักเรื่องสุขภาพ แต่ด้วยเด็กเล็กๆ อาจจำเป็นที่จะต้องย่อยองค์ความรู้เหล่านี้ให้ง่ายขึ้น เพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่าย จึงเป็นเหตุผลที่เราทำสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ขึ้นมา ที่ผ่านมาก็ได้นำไปเผยแพร่ให้กับสถานศึกษาต่างๆ เป็นสื่อการเรียนรู้แบบยืมคืนที่พร้อมให้สถานศึกษาต่างๆ นำไปเรียนรู้ได้ โดยแบ่งออกเป็นช่วงวัยและให้เรียนรู้ง่าย ทั้งยังเข้ากับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของภาครัฐได้อย่างดี
ในส่วนของจุดการเรียนรู้ต่างๆ แบ่งเป็น 3 โซน ประกอบด้วย
1.ไอ แอม สตรอง เน้นให้เด็กเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมแอคทีฟเพลย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ทั้งเน้นการบริโภคอาหารให้เหมาะสม ผ่านการเคลื่อนไหวในด่านต่างๆ อย่างตังเต หรือมิเรอร์ มี ฝึกให้เด็กๆ ได้เคลื่อนไหวลดอาการติดอยู่กับที่ และลดโรคอ้วนได้
2.ฮอร์โมน 102 เป็นฐานบุหรี่ รักเราไร้ควัน ที่เน้นเรื่องชีวิตครอบครัว และความปลอดภัยในชีวิต ที่จะมีอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเครื่องปั๊มแสดงการทำงานของปอด ที่ฝั่งหนึ่งจะสูบลมได้ตามปกติ อีกฝั่งหนึ่งจะเจาะรูไว้แสดงการทำงานของปอดที่ผุพังไปเพราะบุหรี่จนไม่อาจทำงานได้ หรือเครื่องเล่นกระดานลูกหินรูปสมอง ที่ฝั่งหนึ่งจะแสดงออกถึงเส้นเลือดในสมองที่ตีบทำให้ลูกกลิ้งไม่สามารถผ่านไปในแต่ละเส้นได้เปรียบกับสมองของคนสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีกล่องรูปฟันที่ใส่กลิ่นยางพาราไว้ให้เด็กๆ ดมว่าหากสูบบุหรี่แล้วจะมีกลิ่นปากเหม็น พร้อมกล่องความรู้ต่างๆ
3.ฮอร์โมน 101 ฐานสุดท้ายเรื่องเซ็กซ์ วัยรุ่นเลือกได้ เป็นการเรียนเพศศึกษาป้องกันโรคและมีทักษะในการดำเนินชีวิต ที่นอกจากเด็กวัยประถมจะได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างของชายหญิง ว่าจะมีรูปร่างลักษณะอย่างไรผ่านป้ายคำที่ให้เด็กๆ เลือกแปะในกระดานรูปร่างชายและหญิงแล้ว ยังมีชุดตั้งครรภ์ให้เด็กๆ ได้ทดลองใส่ เพื่อให้รู้ว่าการเป็นแม่คนนั้นต้องแบกรับอะไรบ้าง ซึ่งจะเน้นให้เด็กเรียนรู้ตั้งแต่วัยประถม เพราะหากรอให้ถึงช่วงมัธยมอาจจะสายเกินไป
โดยทั้งสามฐานจะแบ่งย่อยเนื้อหาอิงกับแบบเรียนสุขศึกษาของเด็กๆ ออกเป็นระดับชั้นต่างๆ ทั้งอนุบาลประถมต้น, ประถมปลาย และมัธยม
"นิทรรศการนี้ได้ทั้งครูและนักเรียน โดยครูได้ความรู้ไปประยุกต์สอนต่อไป ส่วนนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมก็จะได้เปลี่ยนบรรยากาศ สนุกสนานและได้รับความรู้ไปอย่างที่เขาไม่รู้ตัวด้วย" ดร.เบญจมาภรณ์เผย
หนึ่งอาจารย์ที่พานักเรียนเข้ามาเรียนรู้ในครั้งนี้ อ.กฤติกา บุญแย้ม ครูประจำชั้น ป.4/3 โรงเรียนสวนลุมพินี กล่าวว่า ปกติในชั้นเรียนนั้นเด็กๆ จะได้ออกกำลังกายเฉพาะในวิชาพละศึกษาเท่านั้น แต่เรื่องของสุขอนามัย การทานอาหารนั้นเป็นหน้าที่ของครูประจำชั้น ซึ่งโครงการต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชั้นเรียน ที่สำคัญคือกิจกรรมแอคทีฟ เพลย์ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ให้เขาได้เคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ ได้ นอกจากนี้องค์ความรู้ต่างๆ อย่างน้ำหนัก ส่วนสูง อาหาร ก็เป็นสิ่งที่เด็กๆ จะได้มีองค์ความรู้ติดตัวเขาไปใช้ได้
ส่วน ด.ช.ชัยวุฒิ ไวยพาลี ชั้น ป.4 โรงเรียนสวนลุมพินี วัย 10 ปี บอกว่า การมาเรียนรู้ครั้งนี้ได้ความรู้เยอะมาก ทำให้รู้วิธีการป้องกันโรคอ้วน ได้รู้สถิติคนอ้วนในประเทศไทย และลดการติดยาเสพติดอย่างบุหรี่ นอกจากนี้ ก็ได้รู้ว่าอารมณ์วัยรุ่นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เรื่องฮอร์โมน สิว ให้เราเตรียมพร้อมเมื่อเราโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลดความอ้วนซึ่งตนเองไม่ได้ผอม มีโดนล้อบ้าง ก็ได้รู้ว่าเราป้องกันโรคอ้วนได้ด้วยการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันโรคต่างๆ และลดความอ้วน ซึ่งความรู้นี้จะนำไปบอกต่อคนอื่นต่อไป
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการต่างๆ ได้ตั้งแต่อังคาร-เสาร์ เวลา 09.00-17.00 น. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ