“สุขบัญญัติ” สิ่งสำคัญของการมีสุขภาพดี
เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตต้องเปลี่ยนไป คนไทยประสบปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคติดต่อและไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น…
กรมสนับสนุนสุขภาพ (สบส.) จึงได้กำหนดนโยบายสุขภาพขับเคลื่อน โดยมีคณะรัฐมนตรีร่วมกันพิจารณาอนุมัติและประกาศใช้ "สุขบัญญัติแห่งชาติ" ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2539 เพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องอันจะเป็น การนำไปสู่การมีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และยังกำหนดให้วันที่ 28 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวัน "สุขบัญญัติแห่งชาติ"
สุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ ได้แก่ 1.ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด 2.รักษาฟันให้แข็งแรง และแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี 3.ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย 4.กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด 5.งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ 6.สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น 7.ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท 8.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำป 9.ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ และ10.มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสรรค์สังคม
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สุขภาพถือเป็นปัจจัยขั้นแรกในการพัฒนามนุษย์ให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข การสร้างเสริมและปลูกฝังการมีสุขบัญญัติคือ การมีสุขภาพดีเป็นจุดมุ่งหมายทางสังคมที่ยอมรับกันทั่วโลก มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันทาง เชื้อชาติ ศาสนา ฐานะเศรษฐกิจและสังคม หรือความเชื่อถือทางการเมือง ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองให้มี "สุขภาพดี" อันหมายถึง การมีสภาวะความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งมิใช่เพียงแต่ปราศจากโรคหรือไม่มีความพิการเท่านั้น แต่หมายถึง การมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างดีด้วย
ทั้งนี้ เด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภาวะโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าประชากรกลุ่มอายุอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคภัยที่เกิดจากการขาดสุขลักษณะที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ อาทิ การมีปัญหาด้านภาวะทางอารมณ์ ความเสี่ยงเรื่องยาเสพติดทุกชนิดโดยเฉพาะบุหรี่ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี2557 พบว่าอัตรานักสูบหน้าใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มขึ้นถึง 200,000 ราย โดย 80% เป็นเพศชาย รวมถึงการมีภาวะทุพโภชนาการ คือ การที่ร่างกายได้รับสารอาหารเบี่ยงเบนไปจากปกติ อาจได้รับไม่เพียงพอ เกิน หรือผิดสัดส่วน เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล กลายเป็นภาวะทุพโภชนาการเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ทำให้เด็กเตี้ยและผอม มีสติปัญญาด้อย เรียนรู้ช้า ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย มีภาวะอ้วน เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
นพ.สุริยเดว ยังกล่าวอีกว่า การบริโภคนิยม เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กไทยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน ซึ่งเมื่อเป็นโรคอ้วนสิ่งที่ตามมาคือ ความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ กระดูกและข้อไม่แข็งแรง รวมถึงสิ่งที่กำลังเป็นอีกหนึ่งปัญหาในสังคมซึ่งตรงข้ามกับโรคอ้วน คือ โรคกลัวอ้วน เป็นภาวะที่ปฏิเสธที่จะรับประทานอาหารเพื่อคงน้ำหนักไว้ในระดับปกติ โดยมีทัศนคติที่ผิดต่อรูปร่าง และน้ำหนักตัวผิดปกติ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
นอกจากนี้ จากการทำงานร่วมกับโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ยังพบว่า ปัญหาฟันผุของเด็กไทยมีอัตราที่สูงขึ้นเช่นกันจากการนิยมบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูง เมื่อคิดเป็นอัตราการบริโภคน้ำตาลพบว่า บริโภคมากสูงสุด 20 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 6 ช้อนชา โดยเด็กกำหนดไว้ที่ 10 ช้อนชา และมีการบริโภคแคลเซียมน้อย เมื่อควบคู่กับการบริโภคหวานทำให้เด็กไทยขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์
อีกเรื่องที่เป็นปัญหาจากการขาดสุขบัญญัติคือ ประชากรไทยขาดการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอส่งผลกระทบต่อสมอง มีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง มีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวน ซึ่งปกติแล้วธรรมชาติของเราสามารถควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ได้ แต่เมื่อไรที่เรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมอารมณ์ของตัวเองลดต่ำลง และยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคทำงานแย่ลง เพราะกระบวนการ ในร่างกายจะขัดขวางการทำงานของจุลินทรีย์ ส่งผลให้การฟื้นฟูซ่อมแซมเซลล์ต่างผิดปกติไปจากเดิม
ทั้งนี้ สุขบัญญัติที่ดีสามารถสร้างได้โดยปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ 1. สร้างการเรียนรู้เรื่องสุขภาพ 2. สร้างต้นแบบที่ดีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ เช่น เมื่อโรงเรียนกำหนดไม่ให้เด็กรับประทานขนมขบเคี้ยว ครอบครัวสนับสนุนให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกระบวนการเฝ้าระวังการบริโภคของเด็กในชุมชน เป็นต้น 3.เมื่อเกิดการลงมือทำจึงสามารถปลูกฝังให้เกิดการปฏิบัติเป็นกิจวัตร
นพ.สุริยเดว ย้ำทิ้งท้ายว่า “การมีสุขภาพที่ดี ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน สภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัย โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน การได้รับความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อให้มีสุขอนามัยที่ดี และการดูแลสุขภาพของตนเอง ตลอดจนการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ นำไปสู่การมีสุขภาพดีแบบยั่งยืน”
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต