‘สื่อโป๊’ โจทย์หรือจำเลยการเรียนรู้ ?

        เวทีเสวนา "สื่อโป๊ โจทย์หรือจำเลย การเรียนรู้สุขภาวะเรื่องเพศ" เป็นหนึ่งในเวทีย่อยๆ อีกนับสิบเวทีในการประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1 ประเด็น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายรวม 17 องค์กร ได้รับความสนใจจากครู และบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจนล้นห้อง…


/data/content/25746/cms/e_acdhkmtvy478.jpg


       ในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเพื่อหาทางออกของการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างไร ให้ลดปัญหา และความเข้าใจผิดๆ โดยเวทีเสวนาในครั้งนี้ มีวิทยากรหลัก 2 คน ได้แก่ ศรัทธารา หัตถีรัตน์ กลุ่มโรงน้ำชา (TEA: Together, Equality and Action) เป็นตัวแทนของกลุ่มที่ขับเคลื่อนเกี่ยวกับความเท่าเทียมของความหลากหลายทางเพศ และนายชานันท์ ยอดหงส์ นักเขียนอิสระ ผู้ที่สนใจประเด็นการเมือง ประวัติศาสตร์ และเรื่องเพศ


       จุดประสงค์ของประเด็นเพื่อชี้ชัดว่า "สื่อโป๊ โจทย์หรือจำเลย การเรียนรู้สุขภาวะเรื่องเพศ" มาจากการตั้งสังเกตว่า แท้จริงแล้ว สื่อโป๊มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้เรื่องเพศจริงหรือ และสื่อโป๊ สามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนเข้าใจเรื่องเพศได้อย่างถูกต้องจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน มีอะไรบางอย่างหรือไม่ที่แฝงมากับสื่อโป๊ มากกว่าเรื่องความต้องการทางเพศ


       เปิดฟลอร์ แชร์เรื่องเพศ!


       ก่อนเข้าเรื่อง "ไทยรัฐออนไลน์" ขอยกตัวอย่างการแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นนี้ จากผู้เข้าร่วมเวที โดยผู้เข้าร่วมคนหนึ่งบอกว่า ตนเองมีลูกเล็ก และเป็นเด็กผู้หญิง โดยมองว่าจะปลอดภัยมาก หากสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องเพศตั้งแต่ยังเล็ก ขณะที่อีกคน ระบุว่า การเรียนรู้เรื่องเพศนั้น เป็นเรื่องที่เด็กๆ ควรเรียนรู้ แต่ปัจจุบัน กลับพบว่า สื่อโป๊ทำออกมาในเชิงพาณิชย์ และแสวงหากำไร ทำให้บางครั้งเกิดการเรียนรู้ที่ผิดๆ แต่ทั้งนี้ เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่ควรปิดกั้น แต่ควรสอนให้เด็กมีทักษะในการคิด และรู้จักเสพมากกว่า


      ส่วนอีกคนบอกว่า แล้วผู้หญิงจะเรียนรู้เรื่องเพศอย่างไร ในเมื่อสังคมไทยกำหนดให้ชายเป็นใหญ่ มีอำนาจเหนือกว่า และในสื่อโป๊ก็มีลักษณะเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงหลายคนยังติดกับสื่อโป๊กระแสหลัก และรสนิยมทางเพศตามสื่อนั้น


      นอกจากนี้ ยังมีแม่ของลูกสาววัย 20 ปี ที่เล่าให้ผู้เข้าร่วมฟังว่า ตอนนี้รู้สึกเสียดายว่าตนเองนั้นไม่ได้สอนเรื่องเพศแก่ลูก เหมือนลูกชายที่สอนให้ใช้ถ6งยางอนามัย สอนเรื่องสื่อโป๊ตั้งแต่เข้าวัยรุ่น ช่วง ม.1 ทำให้ตอนนี้ลูกสาวกลายเป็นคุณแม่ไม่พร้อม เพียงเพราะคิดว่า การสอนเรื่องเพศให้ลูกสาวนั้นไม่จำเป็น


       ปิดท้ายด้วยความประสบการณ์ของคุณย่า ที่มีหลานยังเล็กที่เป็นผู้ชาย และผู้หญิง ที่มักจะถามว่า ทำไมอวัยวะเพศของพี่กับน้องจึงไม่เหมือนกัน รวมถึงยังสอบถามเรื่องๆ เกี่ยวกับลักษณะรูปร่างของย่า เพราะว่าอาบน้ำด้วยกัน


     "สื่อโป๊" โจทย์หรือจำเลย?


      กลับมาที่เวทีหลักของวิทยากร 2 คน ที่พูดถึงการเรียนรู้ "สุขภาวะทางเพศ​" ว่าจริงๆ แล้วนั้น สื่อโป๊เป็นโจทย์ หรือจำเลยกันแน่


  /data/content/25746/cms/e_ceilnstuz269.jpg    ชานันท์ ยอดหงส์ นักเขียนอิสระ เริ่มต้นว่า สื่อโป๊ หรือหนังโป๊ (Pornography) โดยความหมายของมัน คือ การเขียนหรือการวาดเกี่ยวกับ โสเภณี แต่ตัวเองชอบคำว่า สื่อโป๊มากกว่า เพราะรู้สึกว่าได้รับการพาสเจอร์ไรซ์มาแล้ว ความหมายบวกมากขึ้น ขณะเดียวกันเห็นว่า การนิยามยังมีส่วนในการเกิดภาพบวก ภาพลบเช่นกัน เช่น นิยามถึงความลามกอนาจาร และเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม ก็จะเป็นทางลบ


      "มีมายาคติทางสังคมหลายอัน เช่น นุ่งสั้น หรือดูสื่อโป๊ เป็นการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เพื่อนำไปสู่ข่มขืน และการด่าทอ และรังเกียจดาราโป๊ รุมประณาม แบบนี้ก็เป็นการข่มขืนซ้ำ เพราะอยู่บนพื้นฐานของการที่ไม่เคารพสิทธิ์ในเนื้อตัว ทุกคนมีสิทธิ์หื่น แต่ไม่มีสิทธิ์ไปทำอะไรบนร่างกายใคร" ชานันท์ ระบุ


      "วัยอันควร" อีกหนึ่งนิยาม เรียนรู้เรื่องเพศ


      ชานันท์ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การเรียนการสอนเรื่องเพศในโรงเรียน คงไม่มีใครสื่อโป๊มาให้เด็กดู เพราะคิดว่า ยังไม่ถึงวัยอันควร ซึ่งในส่วนนี้ จึงต้องตีความด้วยว่า วัยอันควรควรเป็นวัยไหน และการเรียนรู้หลังวัยอันควรนั้น จะเป็นไปในทิศทางใด? ขณะเดียวกัน พร้อมตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส ค.ศ.1789-1799 ผู้ชายแต่งงานเมื่ออายุ 14 ผู้หญิง 22 ต่อมาใน ค.ศ.1792 เปลี่ยนเป็นผู้ชายแต่งงานเมื่ออายุ 15 ผู้หญิง 13 ขณะที่ประเทศไทย ในยุคที่เกษตรกรรมเติบโต จำเป็นต้องการแรงงานเพื่อเป็นแรงงานทำไร่ ทำนา ก็จะแต่งงานอยู่กิน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อมีลูกใช้แรงงานต่อ อย่างไรก็ตาม บริบททางสังคมก็เข้ามาบทบาทในการกำหนด "วัยอันควร" ด้วย


      "สื่อโป๊" กับบริบทของความเป็นผู้หญิง


      น.ส.ศรัทธารา หัตถีรัตน์ กลุ่มโรงน้ำชา เริ่มต้นหากรอบของคำว่า "ผู้หญิง" ในเรื่องเพศก่อนว่า ถูกตีความเป็นอย่างไรบ้าง เช่น ต้องอ่อนโยน ไร้เดียงสาเรื่องเพศ ต้องมีความรู้เรื่องเพศแหล่งเดียวจากสามี หากมีคนอื่นที่ไม่สามี หรือมีก่อนมีสามี ก็จะมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี หรือผู้หญิงไม่ควรแสดงออกเรื่องเพศ ไม่ว่าจะรู้สึกมีอารมณ์ทางเพศหรือไม่ แม้แต่กับสามีตัวเอง ขณะเดียวกันคำว่าโป๊ในบริบทของเพศหญิง จะถูกตีความด้วยคำเหล่านี้ทันที คือ อนาจาร กักขระ /data/content/25746/cms/e_ehijluz23789.jpgและไม่เหมาะสม โดยไม่มีคำว่าในแง่บวก เช่น ศิลปะ หรือเปลือยเลย


       "การมองเพียงว่า สื่อโป๊เป็นจำเลย คิดว่าเรามองสื่อโป๊หลุดจากบริบททางสังคม สื่อโป๊เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่ง ที่เราเสพได้ คนผลิตก็นำเสนอความคิด จิตใจ มุมมองของคนในสังคมไปสื่อ มันเป็นเพียงภาพสะท้อนหนึ่งของสิ่งที่สังคมเป็นอยู่ ซึ่งการนำไปสู่ความจำเลย คิดว่าเป็นการตัดตอนปัญหา ไม่ได้มองภาพกว้างว่า มนุษย์คิดอะไรกันอยู่ ให้การศึกษากันอย่างไร สอนเยาวชนอย่างไร" น.ส.ศรัทธารา กล่าว


      สอนเรื่องเพศ ไม่ใช่ สอนเรื่องสื่อโป๊อย่างเดียว


      ตัวแทนกลุ่มโรงน้ำชา ยังระบุอีกว่า การสอน และเรียนรู้เรื่องเพศ ไม่ใช่แค่สื่อโป๊อย่างเดียว หากมองข้ามไป เรื่องเพศมีเรื่องที่ต้องรู้อีกมาก เช่น เรื่องอารมณ์ทางเพศ ความรู้สึกทางร่างกาย และจิตใจ ประสบการณ์ทั้งทางอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจ ซึ่งอาจก้าวไปถึงทางจิตวิญญาณ ขณะเดียวกัน มองว่าเรื่องเพศเป็นการปฏิสัมพันธ์ พูดคุยวิธีหนึ่ง ทั้งนี้ ในส่วนของเพศหญิง จะสามารถเรียนรู้เรื่องเพศผ่านสื่อโป๊ได้อย่างไรบ้าง เพราะสื่อโป๊ในกระแสหลักมักเห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่เพศชายอาจมีอำนาจเหนือกว่า หรือทัศนคติ ความเชื่อผิด หรือมายาคติ ขณะเดียวกัน รสนิยมเกี่ยวกับการแสดงออก และรูปร่าง เป็นต้น


      "มีการผลิตสื่อโป๊สวยๆ ที่แสดงออกทางเพศอย่างเท่าเทียม ไม่ละเมิด เป็นธรรมกันแล้ว แต่คนไม่ชอบดูเท่าไหร่ คนอาจชอบรุนแรง หรือขืนใจนิดๆ และหลากหลาย ซึ่งจากการศึกษา คนแต่คนมีรสนิยมไม่เหมือนกัน เป็นรสนิยมในจิตนาการ ไม่เกี่ยวกับชีวิตจริง เช่น มีคนที่ต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางเพศ แต่ชอบสื่อโป๊แบบขืนใจหน่อยๆ ก็เป็นไปได้ มันเป็นรสนิยม" ศรัทธารา เล่า


      สื่อโป๊ทางเลือก ช่วยสอนความรู้ทางเพศ


      น.ส.ศรัทธารา ยังยกตัวอย่างเว็บไซต์หนึ่ง ซึ่งเป็นทางเลือกของการเสพสื่อโป๊แบบใหม่ เพื่อให้เรียนรู้เรื่องเพศได้อีกหนึ่ง โดยจะถ่ายทอดความเท่าเทียมของเพศ การมีเพศสัมพันธ์ในแบบที่ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจเท่าๆ กัน ขณะเดียวกัน ยังยกตัวอย่างหนังสืออีโรติกของไทยที่มีจุดยืน เพื่อสนับสนุนให้คนเรียนรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง และไม่ควรใช้รสนิยมตัดสินความดี-เลวของใคร เช่น ผู้หญิงสามารถแสดงอารมณ์ทางเพศของตัวเองได้ขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือผู้หญิงสามารถสำเร็จความใคร่ได้หลายครั้ง ซึ่งเปรียบเสมือนให้ผู้หญิงได้รู้จักปฏิกิริยาของร่างกายตัวเอง และมีความสุขกับเรื่องเพศแบบไม่ต้องรู้สึกละอาย และมีความสุขมากขึ้น


      เรียนรู้เรื่องเพศจริงๆ อยู่จำกัดที่


      ปิดท้ายที่ ชานันท์ที่ระบุว่า "เพศศึกษา" ยังเป็นการเรียนที่จำกัดอยู่ในกลุ่มตำราเรียนของแพทย์ ด้านสาธารณสุข หรือศาสนา แต่ในการเรียนมีการสอนเพียงเรื่องการป้องกันการท้อง บอกว่าทำแท้งมันไม่ดี แต่ไม่ได้สอนว่าการเพศสัมพันธ์ก็มีความสุข แต่สื่อโป๊อธิบายภาพนี้ได้ ขณะเดียวกัน สื่อโป๊ยังช่วยตอ[สนองจินตนาการของคนที่มีรสนิยมต่างกันในรูปแบบต่างๆ


       แม้ในเวทีนี้ จะไม่ได้ชี้ชัดว่าสื่อโป๊เป็น "โจทย์ หรือจำเลย" กันแน่ แต่จากที่ "ไทยรัฐออนไลน์" ร่วมในเวทีด้วย เห็นได้ว่า ทุกคนต่างร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อหาทางออกของการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างไร "แบบเท่าทัน" ทั้งความรู้สึกของตัวเอง ผลกระทบ และการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งสุดท้ายแล้ว แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าเด็กไทยควรเรียนรู้เรื่องเพศอย่างไร เพื่อป้องกันปัญหา "ท้องไม่พร้อม" ก็ตาม แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการหาแนวคิด แนวทางสอน เพื่อป้องกันไม่ให้สถิติการท้องไม่พร้อมของไทยก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งของโลก


 


 


 


       ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

Shares:
QR Code :
QR Code