สื่อสร้างสรรค์ ชุมชนทำได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พลังมหัศจรรย์ของสื่อสร้างสรรค์พัฒนาการเด็ก ที่เริ่มขึ้นด้วยความร่วมมือของชุมชน
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นพื้นที่สำคัญในการดูแลและพัฒนาเด็กช่วงวัย 2-5 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่สมองเจริญเติบโตสูงสุดกว่า 80% ของชีวิต และพัฒนาการของเด็กจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะการมีสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ที่จะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการดีครบถ้วน
แต่สำหรับพื้นที่ขาดแคลนแล้ว การสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้นั้น ถือว่าทำได้ค่อนข้างยาก ดังเช่นชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชุมชนแออัด เพราะผู้อาศัยส่วนใหญ่ในชุมชน คือกลุ่มผู้อพยพมาจากใต้ทางด่วนถึง 4 แห่ง มารวมกันไว้ที่นี่ ผู้คนมากมายหลายอาชีพ ต้องทำงานหนัก หาเช้ากินค่ำ จนไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานเท่าที่ควร เด็กๆ ที่นี่จึงแทบจะเรียกได้ว่า ขาดแคลนและขาดโอกาสในหลายๆ สิ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้จะขาดแคลนแค่ไหน ชาวชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2 ก็เห็นความสำคัญในเรื่องการเรียนรู้ขอเด็กๆ จึงได้ร่วมกันสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้นมา กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่เพาะบ่มและเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กๆ ในชุมชนได้เป็นอย่างดี
มากกว่านั้นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2 (ศพด.สุวรรณประสิทธิ์ 2)ยังเป็นศูนย์กลางของการสร้างความร่วมมือต่างๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการจัดการเรียนการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วยการสร้างสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปี 2 (2558-2559) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเน้นพัฒนาการผ่านการจัดกระบวนการการเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด“สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี”
อรรถสิทธิ์ ไชยบุรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2 กล่าวว่า ทางศพด.สุวรรณประสิทธิ์ 2 ต้องการสื่อเรียนรู้มาให้เด็กๆ ที่อยู่ในความดูแลทั้งหมด 180 คน เมื่อเห็นว่า สสส. เปิดรับเข้าร่วมโครงการจึงได้เข้าร่วม สอดคล้องกับแนวทางของศพด.ที่มุ่งเน้นเรื่องสื่อสร้างสรรค์มาตั้งแต่แรก อย่างหลายที่มักเน้นเรื่องการอ่านออก เขียนได้ แต่ที่ศูนย์ฯ ทำควบคู่กับการทำสื่อ ศิลปะ ดนตรี กีฬา เด็กๆ ทำกิจกรรมที่มีความสุข มีจิตนาการ เสริมสร้างวินัย คุณธรรม เสริมสร้างความเชื่อมั่น กล้าคิดกล้าแสดงออก เติบโตอย่างพึงประสงค์ เพราะเชื่อว่าการฝึกให้เด็กมีวินัยจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต
“เราจึงพยายามหาพันธมิตรมาช่วย เช่น สโมสรโรตารี และ สสส. มาเติมองค์ความรู้ในการจัดทำสื่อสร้างสรรค์ให้ ประกอบกับทางศูนย์ฯมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ 3 ดี คือ สื่อดี ภูมิดี และพื้นที่ดี ซึ่งเราอยากจะขยายพื้นที่ 3 ดี ไปยังผู้ปกครองให้นำกลับไปทำที่บ้านให้ลูกหลานด้วย” ผอ.อรรถสิทธิ์ กล่าว
ภายหลังจากที่ครูได้เข้ารับการอบรมและนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการสร้างสื่อสร้างสรรค์ จัดมุมอ่าน มุมเรียนรู้ให้กับเด็ก รวมถึงพื้นที่สนามตามหลักสูตรพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning : BBL) โดยทุกขั้นตอนจะต้องมีผู้ปกครองเข้ามาร่วมด้วย ทั้งช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบ ช่วยกันทำ และช่วยกันประเมินผลลัพธ์ ซึ่งสื่อที่ช่วยกันทำขึ้นจะเน้นวัสดุอย่างง่าย ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย ทำแล้วน่าสนใจ จับต้องได้ และเชื่อมโยงไปยังหลายๆ กิจกรรมได้ อย่างเช่น หน้ากาก เป็นสื่อเพียงชิ้นเดียว แต่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กได้มากมาย ทั้งบทบาทสมมติ การเลียนเสียงสัตว์ การนับจำนวน ศิลปะ และจิตนาการต่างๆ
มาลัย ไชยบุรินทร์ ครูประจำ ศพด.ก่อนวัยเรียนชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2 บอกว่า ทางศพด.สุวรรณประสิทธิ์ 2 ได้ส่งเสริมพ่อแม่ ผู้ปกครองนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ที่บ้านของตัวเองด้วย เพราะการเรียนรู้ของเด็กนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยที่สิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กจะทำเด็กเรียนรู้และมีพัฒนาการรวดเร็ว เช่น การจัดมุมเล่น มุมอ่านหนังสือให้ลูกที่บ้าน ขณะเดียวกันเราก็ให้ยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านกับลูกได้
นอกจากนี้ยังขยายผลลงไปในชุมชน เช่น การเปิดมุมเล่นมุมอ่านในชุมชน เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เรามีกิจกรรมเสาร์สนุกเพื่อให้พ่อแม่ มาทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็ก เช่น การจัดฐานความรู้เรื่องหารโภชนาการ การประดิษฐ์สื่อเรียนรู้จากวัสดุเหลือใช้ การออกกำลังกาย การดูแลเด็กต่างๆ เป็นต้น
ทางด้าน เปรมทิพย์ แสงสวิทย์ผู้ปกครองของ “น้องไออุ่น” เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับลูกว่า ที่เห็นได้ชัด คือ การทานผัก ซึ่งครูจะมีการทำสื่อเพื่อสอนให้เด็กๆ กินผักและผลไม้ ซึ่งพบว่าเมื่อก่อนลูกจะไม่ค่อยกินผักเลย แต่พอได้กินกับเพื่อนทำให้เขากล้ากิน และกินผักมากขึ้น อีกอย่างคือ เวลากลับไปบ้านลูกก็จะมีเรื่องมาพูดให้เราฟังทุกวันว่าวันนี้ทำอะไรมาบ้าง
นอกจากนี้แล้วยังพบในสมุดสื่อสารที่ครูจะบันทึกมาให้ทุกๆ สัปดาห์ เราก็เห็นพัฒนาการลูกดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะเดียวกันเราก็ต้องเขียนตอบกลับไปให้ครูด้วยว่า อยู่ที่บ้านลูกมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง เหมือนเป็นการบ้านร่วมกัน และเป็นช่องทางหนึ่งของการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับครู
ศพด.ก่อนวัยเรียนชุมสุวรรณประสิทธิ์ 2แม้จะเป็น ศพด.ในพื้นที่ชุมชนแออัด แต่ด้วยความตั้งใจของคณะครู และผู้ปกครอง ตลอดจนคนในชุมชนที่ช่วยกันคนอย่างจริงจัง ทำให้ที่นี่กลายเป็น 1 ใน 8 พื้นที่ต้นแบบ “การสร้างเมืองเป็นมิตรกับเด็ก” ซึ่งได้รับคำชื่นชมทั่วประเทศในขณะนี้