“สื่อพื้นบ้าน” กับ “การสร้างสุขภาวะ”
ความสุขที่แท้จริง เกิดขึ้นที่ ตลาดน้ำคลองลัดมะยม
“สื่อพื้นบ้าน” กับ “การสร้างสุขภาวะ” คำสองคำนี้ดูเหมือนไม่น่าจะเข้ากันได้ในยุคที่สื่อใหม่ๆ กำลังมีอิทธิพลเหนือสิ่งอื่นใด… แต่ใครเล่าจะรู้ว่าในมุมเล็กๆของสังคม ยังคงมีพื้นที่ดีๆ ที่สื่อพื้นบ้านรากเหง้าของชุมชนสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นแก่เยาวชนได้
ใน “มหกรรมสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน”ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม เขตตลิ่งชัน กทม. ด้วยการสนับสนุนโดยแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกฯ สสส. ได้นำสื่อพื้นบ้าน อาทิ “วิถีหัตถศิลป์ไทยดำ” ของกลุ่มเยาวชน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี สื่อพื้นบ้านประเภทงานหัตถศิลป์-ภาษาถิ่น เพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงพวงมาลัย รำเหย่ย ดนตรีพื้นบ้านของกลุ่มไทยทรงดำ,การ “รำตง” ของกลุ่มเยาวชนบ้านกองม่องทะ ต.ไล่โว่สังขละบุรี, เยาวชนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโปว์ มาแสดงให้เยาวชนเกิดจิตสำนึกภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนและพร้อมจะอนุรักษ์ไว้ด้วยความเต็มใจ
“ชุมชนร่วมใจสืบสาน สร้างสรรค์สื่อพื้นบ้านสานสุข” ต.บางแก้ว จ.เพชรบุรี นำเอาละครชาตรีและการเล่นเพลงเกี่ยวข้าวมาเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ให้เยาวชนรักใคร่กลมเกลียว ภาคภูมิใจในความสามารถของตน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และหนีห่างจากยาเสพติด
ส่วนผลงานของกลุ่มลูกหว้าที่เกิดจากการรวมตัวกันของเยาวชนใน จ.เพชรบุรี ผู้สนใจงานสกุลช่างเมืองเพชรที่ขึ้นชื่อลือชาทางด้านศิลปกรรมแบบไทยๆมาช้านาน หันมาศึกษาค้นคว้า เรียนรู้วิชาการที่สืบทอดมาจากอดีตจาก “ครูช่าง” ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นงานตอกหนัง ตัดกระดาษพวงมโหตร งานปูนปั้น งานเขียนลายรดน้ำ ที่ยังพอมีหลงเหลือให้คงอยู่ต่อไป…
นายนนทกานต์ พรมมาสมาชิกกลุ่มเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้งโคกสลุง จ.ลพบุรี บอกกับเราว่า หลายคนอาจจะมองว่าสื่อพื้นบ้านมันโบราณ ไม่น่าสนใจ แต่สำหรับผมทุกครั้งที่ได้เล่น ได้เรียนรู้ ผมมีความสุขสุขเมื่อได้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้ยากแล้วในสมัยนี้
“ผมอยากให้เพื่อนๆ ที่ยังไม่เคยได้สัมผัสกับความรู้สึกนั้น หันมาลองหยิบจับสื่อพื้นบ้านดู แล้วจะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน” นนทกานต์บอก
ซึ่งนี่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยสืบทอด“สื่อพื้นบ้าน” ให้คงอยู่ได้ตราบนานเท่านานสืบไป…
ที่มา : จุลสาร ร หัน แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกฯ สสส.
update:29-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่