สืบสานงานไหมลายหางกระรอก

สืบสานงานไหมลายหางกระรอก thaihealth


ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อะไรๆ ที่ดู โบราณกลับกลายเป็นเชยหรือล้าสมัยในสายตาคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นหรือได้ยินข่าวเกี่ยวกับของเก่าตกยุค ทั้งหลายเกิดขึ้น และนั่นก็เกือบที่จะเกิดขึ้นกับงานผ้าไหมพื้นบ้านลายหางกระรอกอย่าง "โซดละเว" ที่เริ่มถูกละเลย


กระทั่งมีน้องๆ กลุ่มหนึ่งที่มองเห็นความสำคัญของมรดกจากปู่ย่า และลุกขึ้นมาร่วมมือกันสืบสานผ้าไหมลายหางกระรอก ชื่อดังแห่งจังหวัดศรีสะเกษแห่งนี้ ในนามของ "กอนกวยโซดละเว" ผ่านโครงการดักแด้แตกใหม่ ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) ที่ไม่เพียงได้สืบสานวัฒนธรรมผ้าพื้นบ้าน แต่ยังช่วยเติมเต็ม ช่องว่างระหว่าง "รุ่น" ให้กับชุมชนอีกด้วย


ครูแอ็ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร อายุ 24 ปี หัวหน้ากลุ่มกอนกวยโซดละเว เล่าที่มาของโครงการว่า เมื่อพูดถึง "โซดละเว" หรือ "ผ้าไหม ลายหางกระรอก" ทุกคนต่างต้องพูดถึงชุมชนของพวกเขาคือ ชุมชนบ้านแต้พัฒนา ชุมชน ชาวกวยใน ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โดยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ผู้หญิงทุกบ้านต้องทำให้เป็น และถือเป็นอาชีพเสริมยามว่างจากการเกษตรสืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น  การนำผ้าไหมไปใช้ก็มีรายละเอียดแตกต่าง กันไปขึ้นกับวาระและโอกาส เช่น "งานบวช" นาคจะนุ่งผ้าไหมลายหางกระรอกยาวโจงกระเบน


เข้าพิธีอุปสมบท "พิธีกรรมบุญเทศน์มหาชาติ" จะใช้ผ้าไหมลายหางกระรอกในการห่อพระคัมภีร์ บางพิธีก็ต้องใช้ผ้าสืบสานงานไหมลายหางกระรอก thaihealthหลายชนิด อย่าง "พิธีกรรมสู่ขวัญข้าว" ต้องใช้ทั้งผ้าซิ่นไหมเข็นควบ ผ้าไหมลายหางกระรอกยาวโจงกระเบน ผ้าโสร่งไหม และผ้าไหมมัดหมี่คั่นผ้าไหมลายหางกระรอกในการเซ่นไหว้พระแม่โพสพเพื่อขอพรให้ช่วยปกปักรักษาให้ข้าวและน้ำอุดมบริบูรณ์


ทว่าในระยะหลังเยาวชนในชุมชนไม่ได้สนใจภูมิปัญญาการทอผ้าไหมดังคนรุ่นก่อน แต่หันไปซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามยุคสมัยมาใส่แทน ผ้าไหมลายหางกระรอกจึงค่อยๆ สูญหาย จากปัญหานี้ เมื่อ โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เปิดรับสมัครเยาวชนให้รวมกลุ่มทำโครงการสร้างสรรค์ชุมชน ครูแอ็ด และน้องๆ ประกอบด้วย เต๋า-อภิชาติ วันอุบล, ลม-วิภา โพธิสาร, อุ-สายสุดา วันอุบล, คิด- สุกฤตยา ทองมนต์ และ กั้ง-ฐิตานันท์ หงษ์นภวิทย์ โดยมีผู้ใหญ่นพดล โพธิ์กระสังข์เป็นที่ปรึกษา ได้ขอรับการสนับสนุน ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านแต้พัฒนาหันมาเห็นคุณค่าของการสืบทอดและสวมใส่ผ้าไหมลายหางกระรอก


ตลอด 6 เดือนของการทำโครงการ เริ่มต้นจากการบอกกล่าวชุมชนให้รับรู้ว่าจะทำอะไร จากนั้นจึงประชุมทีมงาน เข้าหาครูภูมิปัญญาเพื่อสืบค้นข้อมูลประวัติความเป็นมา และกรรมวิธีการทอ จากนั้นจึงฝึกฝนการทอผ้าไหม โดยมีแม่ๆ ยายๆ ครูภูมิปัญญาคอยแนะคอยหนุน อาศัยเวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์และช่วงเย็นหลังเลิกเรียนชวนกันมาย้อมสี แกว่งไหม ทอผ้า โดยมีน้องๆ เยาวชนในชุมชนกว่า 30 คนสนใจมาร่วมเรียนรู้ทำกิจกรรมที่บ้านครูแอ็ด


ผลที่เกิดขึ้นคือผ้าไหมลายหางกระรอก 11 ผืนที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงเยาวชนตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงไหมจนถึงการทอเป็นผืน ส่วนเพื่อนๆ น้องๆ คนอื่นก็ดูใส่ใจสืบสานการทอผ้าไหมลายหางกระรอกมากขึ้น


"เด็กเล็กแกว่งไหม วางโบกเรียงให้เขาแกว่ง เด็กโตทอผ้าเป็นก็ให้ทอผ้าเลย ตกเย็นเด็กๆ ก็จะมาคอยถามว่าวันนี้มีอะไรให้ทำบ้าง พอสนิทสนมกันแล้วเขาก็กระตือรือร้นอยากทำมากขึ้น และยิ่งมีโครงการมาสนับสนุนก็เป็นกำลังใจให้อยากสืบสานงานไหมลายหางกระรอก thaihealthทำต่อไปเรื่อยๆ ส่วนตัวเป็นครูก็มองว่าถ้าเด็กเขาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์วันละนิดในแต่ละวัน มันจะค่อยๆ สะสมประสบการณ์ให้แก่เขาไปเรื่อยๆ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าน้องๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ฝึกนิสัยการทำงาน รับผิดชอบทำงานให้เสร็จในแต่ละวัน" ครูแอ็ดเล่าความคิดเบื้องหลัง


"ระยะแรกยอมรับว่ามีแอบไปดูบ้าง เหมือนกันเวลาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมกันจนดึกดื่น ที่บ้านครูแอ็ด เพราะกลัวว่าเขาจะทำอะไรไม่ดี และในชุมชนมียาเสพติดระบาด แต่เมื่อเห็นเด็กๆ ทำผ้าไหมอย่างจริงจัง และเห็นว่าปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กมั่วสุม ปัญหาเด็กขับรถออกนอกหมู่บ้านทุเลาลง ผู้ใหญ่ก็เริ่มวางใจ"


ลุงวรวุฒิ ศรีทองธนเดช อายุ 64 ปี กรรมการหมู่บ้านสะท้อนความคิดให้ฟัง เมื่อเห็นว่า เด็กๆ ทำจริง กรรมการหมู่บ้านจึงมองหาช่องทางการขายให้ เพื่ออย่างน้อยก็ถือเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกให้กับเด็กๆ ที่อาจจะเรียนไม่เก่ง หรือเด็กที่ไม่อยากออกจากชุมชน ก็ยังมีงานทำอยู่บ้านได้


หนึ่งในแกนนำอย่าง "เต๋า" บอกว่า เมื่อได้มาทำโครงการนี้แล้วเมื่อทอผ้าได้ก็รู้สึกภูมิใจ แล้วนี่ก็ไม่ใช่กิจกรรมน่าเบื่อ เพราะระหว่างทำงานก็ได้คุยเล่นกับเพื่อนด้วยทำให้ไม่เหงา


"พวกผมเคยใส่โสร่งโซดละเวไปจัดนิทรรศการในห้างก็มีคนมาขอถ่ายรูปด้วย แล้วก็ขอยืมไปใส่ถ่ายรูป ถามใหญ่ว่าเราไปซื้อ มาจากไหน ผมก็รู้สึกดีใจ รู้สึกว่านุ่งผ้าไหม โซดละเวแล้วมีคุณค่า ดีกว่าใส่กางเกงยีนส์" เต๋าเล่าอย่างภาคภูมิใจ ส่วนแนวทางการทำงานต่อไปของกลุ่ม กอนกวยโซดละเว ครูแอ็ดบอกว่า ทางกลุ่มกำลัง ศึกษาวิธีการทอผ้าไหมลายหางกระรอกด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งแม้การย้อมสีธรรมชาติจะยากลำบากเพราะใช้เวลามาก ผืนหนึ่งต้องใช้เวลา ย้อม 3 วัน 3 คืน แต่ก็มีคุณค่าและได้ราคาดีกว่า นอกจากนี้จะขยายไปถึงการเรียนรู้และสืบทอดวิธีการทอผ้าชนิดอื่นๆ ของ จ.ศรีสะเกษ พร้อมๆ กับ ศึกษาวิธีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ทำเป็นเสื้อสำเร็จรูป และกระเป๋า รวมทั้งจะจัดทำพิพิธภัณฑ์ผ้าไหม เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลผ้าแต่ละชนิดให้คนรุ่นหลังได้ร่วมเรียนรู้  ทั้งหมดก็เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนเกิดความภูมิใจในตนเอง ไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิด และไม่ลืมตัวตนของตนเอง


ทั้งหมดก็เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนเกิดความภูมิใจในตนเอง ไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิด และไม่ลืมตัวตนของตนเอง.


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code